หากได้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงานในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ เชื่อได้ว่าชื่อของ “วิไลวรรณ แซ่เตีย” ย่อม เป็นที่ปรากฏอยู่ตามหน้าข่าวเหล่านั้นอยู่เนืองๆ ในฐานะผู้นำแรงงานหญิงคนสำคัญในปัจจุบัน “ป้าวิ” ที่คนในขบวนการแรงงานเรียกขานด้วยความนับถือนั้น ชีวิตของเธอได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชนกว่า 30 ปี
วิไลวรรณ เป็นชาวขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2499 เธอจบการศึกษาแค่ชั้น ป. 4 เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเข้ากรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ซึ่ง การเข้ามายังเมืองกรุงในครั้งนั้นก็มีความมุ่งหวังที่จะหาเงินส่งกลับไปให้ แม่และน้องที่อยู่ทางบ้านได้ใช้จ่าย โดยเธอเริ่มเป็น “กรรมกรก่อสร้าง” ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในโรงงานของบริษัทนครหลวงถุงเท้าไนลอนจำกัด ย่านอ้อมใหญ่ จ.นครปฐม
“เหตุ ที่เขามาทำงานในโรงงาน ก็เพราะที่บ้านทำนา เราก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีรายได้ มันจำเป็นต้องผันตัวเองเข้ามาทำงานในโรงงาน เพื่อให้พ่อ แม่ มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายบ้าง เข้ามากับพี่สาว แรกๆ ก็ไปทำงานก่อสร้างกับญาติ ที่เป็นผู้รับเหมาก่อน ไปขัดกำแพงอยู่ประมาณอาทิตย์หนึ่ง หลังจากนั้นก็ไปทำงานร้านอาหาร ประมาณเดือนนึง หรือสองเดือน ได้ค่าแรงสามร้อยบาทต่อเดือน ก็ไปทำงานเป็นแม่บ้านอยู่สองสามเดือน พอดีพี่สาวรู้จักกับคนขับรถโรงงาน ก็เลยเอามาฝากที่โรงงานทำงานทอผ้า”
และเหมือนชะตาชีวิตของเธอได้ถูกกำหนดให้ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมสหภาพแรงงาน เมื่อในปี พ.ศ. 2524 ที่ โรงงานที่เธอทำงานมีการประท้วง และมีการนัดหยุดงาน เนื่องจากการกดขี่แรงงานของนายจ้าง เช่น การเลิกจ้างคนท้อง รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร โดยหลังจากนัดหยุดงานติดต่อกัน 10 วัน ก็สามารถเจรจากันได้ จึงกลับเข้าทำงานตามปกติ ซึ่งสหภาพแรงงานที่วิไลวรรณทำงานก็เริ่มก่อตั้งในช่วงนั้น และเธอก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานในต้นปี พ.ศ. 2525 ล่วงมาในปี พ.ศ. 2526 เธอก็ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ทำกิจกรรมอย่างขันแข็งจนได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง ในปี พ.ศ. 2529
ในปีช่วง พ.ศ. 2531 - 2533 วิไลวรรณ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ในการผลักดันเรื่องการยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น และการผลักดันกฎหมายประกันสังคม ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ โดยมีการยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น ช่วงปลายปี พ.ศ. 2532 และเป็นรอยต่อมาปี พ.ศ. 2533 ก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องเรื่องประกันสังคม ซึ่งวิไลวรรณได้ร่วมการอดข้าวประท้วงในครั้งนั้นด้วย
“กลุ่ม อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ไปเยอะมากในช่วงนั้น ก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงาน นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ประสบความสำเร็จในช่วงนั้น มีการเคลื่อนไหวอย่างเข็มข้น มีการอดข้าวประท้วงในช่วงนั้น พี่ก็ไปอดข้าวประท้วงด้วย ก็อดอยู่สองวัน วันที่สามก็ประกาศ
วิไลวรรณ ทำกิจกรรมร่วมกับขบวนการแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลักดันการลาคลอดเก้าสิบวัน ร่วมกับกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานในกรณีโศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์ ขับเคลื่อนเรื่องประเด็นสุขภาพและความปลอดภัย และอื่นๆ จนในปี พ.ศ. 2536 เธอ ก็ได้รับเลือกเป็นผู้ประสานงานกลุ่มย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ รวมถึงได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีในเวลาต่อมา และหลังจากที่กลุ่มบรูณาการแรงงานสตรีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทยในปี พ.ศ. 2544 วิไลวรรณก็ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในปี พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2548 เธอ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นขบวนการแรงงานที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน (วิไลวรรณดำรงตำแหน่งประธานถึงต้นปี พ.ศ. 2554)
ปัจจุบัน วิไลวรรณก็ยังคลุกคลีอยู่กับวงการแรงงานอยู่ โดยที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลุ่มอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เป็นกรรมการของสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง และยังดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
“แรงบันดาลใจในการทำงานกับขบวนการแรงงานคือสิ่งที่สำคัญเราก็จะเห็น พอเรามาทำงาน มันสัมผัสด้วยตัวเองเห็นปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยความเป็นพี่น้องเป็นน้อง มันได้สัมผัสกับปัญหาที่มันเกิดขึ้น พอมันเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเรา ก็ทำมาโดยตลอด มันก็ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเราก็ทำงานมาโดยตลอดไม่ได้เว้นวรรค”
ประเด็น ความเสมอภาคหญิงชายในขบวนการแรงงานและการทำงานของขบวนการนั้น วิไลวรรณให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาผู้หญิงก็มีบทบาทการต่อสู้มาทุกยุคทุกสมัย ส่วนสังคมไทยในปัจจุบันผู้หญิงก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และการสร้างขบวนการแรงงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น จะต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวม คลุกคลีกับปัญหา มีความเสียสละทุ่มเท และจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากชนชั้นผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเอง
“จากประสบการณ์และจากบทเรียนที่ผ่านมา ถ้าเราจะทำงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือจะแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้น จะคิดเองลอยๆ ไม่ได้ แต่จะต้องสัมผัสด้วยตัวเอง เห็นปัญหาด้วยตัวเอง เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องด้วยตัวเอง ต้องตั้งใจในการทำงาน ต้องทุ่มเท ในการทำงาน ต้องเสียสละ ต้องยึดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ต้องไม่มองตัวเองเป็นตัวตั้ง ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากการทำงานของพวกเรา”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : ประชาไท/100 ปีวันสตรีสากล: ทัศนะผู้หญิงในขบวนการแรงงาน-ชาวบ้าน