คุณรัชนี ธงไชย หรือเด็กๆ เรียกเธอว่า “คุณแม่” ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เด็กไทยในวันนี้ยังคงอยู่ในสภาพเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เด็กยังขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดการดูแลเอาใจใส่เพราะผู้ใหญ่ยังสับสนในบทบาทของตัวเอง และเกี่ยงที่จะแสดงบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อเด็ก”
ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูที่เห็นเด็กนักเรียนของตนเองมีปัญหาเรียนไม่รู้เรื่อง คุณรัชนี จึงกลับมานั่งคิดว่า ทำอย่างไร เด็กๆจึงจะเรียนหนังสือรู้เรื่อง
“ตอนแรกเริ่ม เราพยายามแก้ปัญหาที่ตัวเด็ก แต่ปัญหาก็ไม่คลี่คลาย เลยไปดูครอบครัวว่ามีปัญหาอะไร จึงพบเหตุแห่งปัญหาว่า การเรียนหนังสือแบบไป-กลับ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ก็เลยปรึกษากับอาจารย์พิภพ ธงไชย ว่าถ้ามีโรงเรียนที่เป็นลักษณะประจำน่าจะช่วยแก้ปัญหาของเด็กๆได้ ต้องสร้างโรงเรียนและเอาเด็กออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิม ป้องกันการเจอปัญหาซ้ำซาก จึงลองทำดูว่าผลจะเป็นเช่นไร เราจะทำได้ไหม โรงเรียนหมู่บ้านเด็กจึงถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มแรกรับเด็กกำพร้าเข้ามาก่อน ต่อมาในช่วงปี 2522-2524 พบว่า เด็กกลุ่มอายุ 0-5 ปี ตายด้วยโรคขาดสารอาหาร ตายไปปีละ 55,000 คน จึงเริ่มรู้สึกหนักใจว่า สังคมเริ่มมีปัญหาแล้ว พอทำงานไปสักพักก็เริ่มรู้จักกลุ่มเพื่อนที่ทำงานด้านสังคม ก็ได้เห็นปัญหาของเกษตรกรอีก ว่ามีความยากลำบากขนาดไหน ซึ่งมันตอกย้ำความคิดเดิมๆ ที่ว่าปัญหาไม่ได้เกิดแค่ตัวเด็ก แต่เริ่มต้นจากครอบครัวที่เป็นปัญหาใกล้ตัวเด็ก จึงได้มีการเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่ทำงานหมู่บ้านเด็ก เปลี่ยนวิธีคิดของพ่อแม่เด็กซึ่งนับว่าเปลี่ยนยากที่สุด เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจที่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มีกิน จึงทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกได้ แต่เราต้องลองทำไป ทำเรื่อยๆ ค่อยๆช่วยเขาไป ลงไปช่วยครอบครัว ส่งเสริมให้เด็กได้เรียน ให้เครื่องนุ่งห่ม ยา และอาหาร ซึ่งให้เขาไปแล้ว ทำให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ส่วนตัวเด็กๆเอง เมื่อเขาโตขึ้นก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้มีความอบอุ่นได้ ด้วยความเชื่อที่ว่า “ทำแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป สังคมก็จะค่อยๆเปลี่ยนเช่นกัน”
“หมู่บ้านเด็ก” เมื่อถูกก่อตั้งขึ้นใหม่ๆ ประสบกับปัญหาที่ว่า สังคมไทยไม่รู้จัก ส่วนคนที่รู้จักก็ไม่เห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าเสรีภาพจะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กได้ แต่เมื่อเริ่มทำไปได้สักระยะ สังคมเริ่มเห็นผลงาน ทำให้มีอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยได้เข้ามาช่วยเป็นประชาสัมพันธ์ สังคมก็เริ่มมองในแง่บวกมากขึ้น ส่วนเงินทุน ในระยะเริ่มต้น หมู่บ้านเด็กรับทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ต่อเมื่อแหล่งทุนเริ่มเห็นว่าประเทศไทยพัฒนาแล้ว จึงงดให้การสนับสนุน โรงเรียนก็ประสบปัญหา ทำให้ต้องล้มลุกคลุกคลานบ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณรัชนีเริ่มเข้าใจและเห็นว่าทุนที่ดีไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเป็น “ทุนทางสังคมด้วย” แม้ว่า หมู่บ้านเด็ก จะไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุน แต่ก็ยังได้รับความช่วยเหลือทางบุคลากร อาหาร เงินทุนจึงไม่ใช่ปัญหาร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
ปัญหาสำคัญอีกประการ คือ ปรัชญาของหมู่บ้านเด็ก ไม่ตรงกับโรงเรียนปกติทั่วไป เพราะบุคลากรการศึกษาส่วนใหญ่จบออกมมาในรูปแบบการสอนแบบอนุรักษ์นิยม (conservative) จึงทำให้ต้องเสียงบประมาณในการอบรมบุคลากรทางการศึกษามากขึ้น ถึงแม้ว่ามีการดำเนินงานจะยากลำบาก แต่คุณรัชนีก็เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงแห่งความยินดี ว่า
“ทุกวันนี้เราได้มีก็ประเมินตัวเองแบบก้าวหน้า คือ ถ้าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมของปัญหาที่มีแนวโน้มลดลง แสดงว่าเริ่มจะสำเร็จแล้ว ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กในบางกรณีไม่สามารถเปลี่ยนได้ในปีสองปีเท่านั้น แต่ต้องกินระยะเวลาบางเคสถึงสิบปีกว่าจะสำเร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานว่าชีวิตโดนกระทำมาเยอะหรือน้อยเพียงใด ปัญหาของแต่ละคนใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน ต้องสร้างและพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ อย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่เราทำงานมา เราก็เห็นการพัฒนาการทั้งบุคลากร และเด็ก ในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”
“ความสุขในชีวิตของเรา เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสุขโดดๆ ต้องมีปัจจัยแวดล้อมทำให้มีสุข คนรอบข้างเราก็จะมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวก็ต้องมีความสุข เราสัมผัสความสุขจากเขา เขาก็สัมผัสความสุขจากเรา เพราะฉะนั้นการทำงานในสังคมจะมีความสุข เพื่อนมนุษย์ก็ต้องมีความสุขไปพร้อมกับเรา”
คุณรัชนี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คนทำงานด้านพัฒนาสังคมส่วนใหญ่ มีปรัชญาการทำงานไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หรือไม่สอดคล้องกับระบบเดิมๆที่มีอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา การสร้างระบบใหม่นี้ต้องใช้เงินทุน “กองทุนภาคประชาสังคม” จึงมีความจำเป็น ทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานพัฒนาสังคมสามารถเข้าถึงงบประมาณในการทำงาน ทำให้กลุ่มคนที่มีแรง มีพลังสามารถยืดหยัดทำงานเพื่อสังคมได้
“สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ รูปแบบของกองทุนต้องเกิดจากการมีส่วนร่วม คนหนุ่มสาว คนทำงานรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่ามาคิดร่วมกัน และต้องเป็นกองทุนที่ไม่หวังพึ่งเงินจากรัฐบาล ต้องเป็นแหล่งทุนที่ถาวร มีบทบาท ต้องมีการจัดการจากคนที่มีประสบการณ์และเข้าใจกระบวนการทำงานพัฒนาสังคม ต้องเข้าใจทั้งงานและคนทำงานว่าชีวิตคนทำงานด้านสังคมต้องฟันฝ่าอุปสรรคอย่างไรบ้าง ต้องมีกระบวนการพี่เลี้ยงให้กับคนรุ่นใหม่ การประเมินต้องเน้นหลักในการส่งเสริมและพัฒนาไม่ใช่มีหน้าที่ในการตัดสินคนทำงาน”