“เครือข่ายสลัม 4 ภาค” เป็นขบวนการคนจนในเมืองที่ขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสลัม และแสวงหาความยุติธรรมทางสังคม ผ่านกระบวนการสร้างดุลอำนาจต่อรองกับภาครัฐ โดยมีการดำเนินงานที่เป็นอิสระปราศจากการครอบงำแทรกแซงจากอำนาจการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2541 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ชุมชน โดยมีเป้าหมายคือสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมในด้านที่อยู่อาศัย
ประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เล่าประสบการณ์ทำงาน ในฐานะผู้นำหญิงคนสำคัญของขบวนการ ประทินเริ่มเล่าปูมหลังชีวิตก่อนที่จะเข้าร่วมกับขบวนการคนจนเมืองแห่งนี้ ที่เธอเองก็มีประสบการณ์ตรงในการเป็น “เหยื่อ” ของความไม่เป็นธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำในประเด็นที่อยู่อาศัย
“เมื่อ ก่อนที่ยังไม่เข้าขบวนการก็อยู่ที่ดิน ของญาติๆ กัน อยู่ตรงโพธิ์สามต้น ก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะถูกเขาไล่ ตรงนั้นมันเป็นที่ของพี่น้องกัน ที่นี่เราก็อยู่กันมา แต่พอรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เขาตาย พอรุ่นลูกเขาก็ขายที่หมด เราก็ต้องออก คนที่ปลูกอยู่ในนั้น บางคนก็เช่า ผลสุดท้ายก็ไล่หมด เราก็โดน ประมาณปี พ.ศ. 2535 – 2536 พอ ออกมาแล้วเราก็ไปเช่าบ้านอยู่ก่อน พอเช่าบ้านอยู่ก็มีพี่น้อง มีคนที่เขาชักจูงมาก็มาอยู่ที่ที่รถไฟ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เช่า แต่ก็มาเสียค่าหน้าดินให้กับคนที่เขาจับจองไว้ก่อนดั่งเดิม และก็เสียค่าเช่ารถไฟอยู่สองปี หลังจากนั้นรถไฟก็ไม่ได้เก็บเลย ตอนที่เราอยู่ที่รถไฟนะ เราขอทะเบียนบ้านไม่ได้ ไปขอน้ำ ขอไฟ ก็ไม่ได้ เราก็อยู่แบบนั้น ไปขอต่อน้ำ ต่อไฟ จากที่เอกชนเขาเข้ามา”
ที่นี่เองที่ประทินเริ่มรู้จักช่องทางและวิธีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เมื่อมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เธอได้เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่างๆ และในปี พ.ศ. 2541 ประทินก็ได้เข้าร่วมกลุ่มเครือข่ายฯ และในปี พ.ศ. 2542 ก็เกิดการชุมนุมใหญ่ของเครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นครั้งแรก
“การต่อสู้ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค นอกจากจะเคลื่อนไหวช่วยเครือข่ายของชาวสลัมในพื้นที่ต่างๆ แล้ว เครือข่ายก็ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนโยบาย เช่น การผลักดันนโยบายโฉนดชุมชนในพื้นที่สาธารณะริมคูคลอง ทั้ง นี้เพื่อให้ชาวสลัมริมคลองสามารถปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมและได้ สิทธิความมั่นคงในรูปของโฉนดชุมชนจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ได้ , การผลักดันให้ออกกฎกระทรวงเพื่อผ่อนปรนในเรื่องการปลูกสร้างอาคาร และการผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติงบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของโครงการบ้านมั่นคง เป็นต้น
สำหรับประทิน การทำกิจกรรมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจว่าการที่คนเล็กๆ เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม มันก็มีพลัง และมีความภาคภูมิใจที่สามารถเจรจาต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐได้อย่างเต็ม ภาคภูมิ ไม่ใช่เป็นการขอความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์อีกต่อไป และเธอมีความหวังว่าขบวนการชาวบ้านจะต้องก้าวไปในหนทางการต่อสู้เพื่อเรียก ร้องความเป็นธรรมในลักษณะที่มี “ศักดิ์ศรี” แบบนี้ ส่วนในประเด็นผู้หญิงกับการทำงานด้านสังคมประทินมองว่าเมื่อก่อนผู้หญิงอาจ จะดูไม่ค่อยมีบทบาท แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะคุณสมบัติพิเศษในเรื่องของความละเอียดอ่อนและใจเย็นมากกว่าผู้ชาย
“เมื่อก่อนนี้มันจะมีเรื่องความเหลื่อมล้ำกันระหว่างผู้หญิง ผู้ชายแต่มาตอนหลังนี้ แต่จากประสบการณ์ที่เราทำงานในเรื่องของที่อยู่อาศัย มันจะมีผู้หญิงออกมามาก เราก็คิดสิ่งที่ขบวนการมันจะเดินได้ ผู้หญิงต้องขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้หญิงจะละเอียดอ่อนและใจเย็น จะเหนือกับผู้ชายได้หน่อยก็คือเรื่องใจเย็น”
ในส่วนตนนั้น ประทินมีกำลังใจที่สำคัญคือ แม่ที่ทั้งคอยให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงาน เพราะแม่ของประทินนั้นก็ไม่ชอบเรื่องการกดขี่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และในการทำงานหากท้อแท้ ประทินก็มองว่าภาระหน้าที่ที่เธอแบกรับมันไม่ใช่เรื่องของเธอเพียงคนเดียว แต่การทำงานแบบนี้มันมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่เบื้องหลัง
“พี่เคยท้อหลายหน แต่ก็บอกตัวเองว่าถอยไม่ได้ เวลาทำงานมันก็มีปัญหากันบ้าง มันก็จะทำให้ท้อๆ บ้าง แต่เราก็ถอยไม่ได้ เวลา ท้อ ถ้าเราเราท้อกับชาวบ้าน เราก็ไม่เข้าไปยุ่งกับชาวบ้าน แต่พอหายละ เราก็กลับไปทำงานใหม่ แต่ถ้าท้อกับแกนนำด้วยกัน เราก็อยากจะถอยเลย แต่เรามามองถึงปัญหาชาวบ้านอีกเยอะแยะเลย แล้วถ้าเราไม่ลุกออกมาทำ แล้วใครล่ะจะมาทำ เราก็คิดว่าจะทำจนกว่าจะทำไม่ไหวเราก็คิดแบบนี้”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : ประชาไท