กองทุนภาคประชาสังคม

คุณธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง

ด้วยจุดเริ่มต้นที่เกิดมาเป็นผู้หญิง  ประจวบกับการทำงานที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสได้เห็นประเด็นและแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญ  ทำให้ “คุณธนวดี ท่าจีน”  เกิดความสนใจและผันตนเองเข้ามาทำงานในองค์กร “มูลนิธิเพื่อนหญิง” 

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมากมายในการทำงาน คุณธนวดีเล่าว่า

“ เพราะเราเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งไม่มีรายได้ประจำที่จะนำมาใช้ในการบริหารงานให้เกิดความต่อเนื่อง ปัญหาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของแหล่งทุน ทำให้เราต้องเขียนโครงการเสนอไปตามหน่วยงานต่างๆเพื่อขอรับการสนับสนุน ให้ได้เงินมาทำงาน  ซึ่งบางแหล่งทุนก็มีนโยบายที่สนับสนุนเฉพาะประเด็น ซึ่งอาจจะไม่ตรงประเด็นกับที่เราต้องการทำในเชิงลึกต่อยอดจากการทำงานที่ผ่านมา  และต้องทำงานร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนกฎหมายที่ยังมีความเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนมากยังไม่มีความเข้าใจในประเด็นนี้เท่าที่ควร”

“และปัญหาอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ตัวของผู้หญิงเอง ด้วยความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ชายเป็นใหญ่ในสังคม ผู้ชายมีสิทธ์ที่จะทำร้ายภรรยาได้ หรือเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องของคนในครอบครัว บุคคลอื่นไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือ เมื่อผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำจากผู้ชายในครอบครัว จึงไม่กล้ายืนหยัดต่อสู้ หรือต้องเผชิญกับชะตากรรมและยืนหยัดเพื่อรักษาสถานะภาพของครอบครัวด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความท้าทายว่าเราจะทำอย่างไร ให้สังคมโดยรวมมีความรู้ และทำอย่างไรให้ผู้หญิงหลุดออกจากความเชื่อเดิมๆ เข้าใจในมิติการคุ้มครองสิทธิของตนเอง และลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ ทั้งเรื่องการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตปกติประจำวัน”

จากปัญหาอุปสรรคต่างๆ คุณธนวดี พยายามปรับวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่พบ โดยพยายามสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้แกนนำผู้หญิงสามารถเข้าใจและกำหนดสิทธิของตนเอง มีความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิในการเรียกร้อง ป้องกัน ลิขิตชีวิตของตนเองได้  และสร้างพลังให้กับผู้หญิงให้สามารถต่อสู้กับความคิดวิธีตัวเองและให้กำลังใจตัวเอง จนสามารถหลุดพ้นจากความเชื่อเดิมๆของสังคมไทย และสร้างภาวะผู้นำให้กับผู้หญิง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเป็นผู้นำได้ในทุกหลักการ

“นอกจากนี้ เรายังจัดกิจกรรมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในชุมชนของตนเองได้ เรียนรู้การทำงานร่วม เรียนรู้การคุ้มครองสิทธิ์ และการประสานงานเพื่อคุ้มครองสิทธิ์กับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการเข้าไปทำงานในชุมชน เพื่อให้เกิดวามรู้ที่จะช่วยเหลือและพัฒนาตนเอง รวมทั้งขับเคลื่อนงานในชุมชนได้ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปบทเรียนจนเห็นแนวทางและความสำเร็จที่แตกต่างกันระหว่างภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำไปปรับวิธีการทำงานในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครที่ให้ข้อมูล อีกทั้งฝึกจัดรายการวิทยุให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อสื่อสารข้อมูลและนโยบายสาธารณะในภาพรวม รณรงค์ให้เกิดการยุติความรุนแรงในผู้หญิง ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย การปรับเปลี่ยนทัศนคติจากความเชื่อเดิมของสังคม”  

                “ด้วยความสำเร็จที่สามารถกระจายงานมูลนิธิเพื่อนหญิงไปสู่ภูมิภาคต่างๆ มีจังหวัดสงขลา เชียงใหม่ และอุบลราชธานี การสร้างแกนนำผู้หญิงในแต่ละภาค แล้วมาทำงานร่วมกัน ทำให้การเข้าถึงปัญหาของผู้หญิงมีความทั่วถึงมากขึ้นไม่ได้กระจุกความช่วยเหลืออยู่ภายในกรุงเทพฯเท่านั้น ผู้หญิงในพื้นที่ชนบทจึงสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและกองทุนต่างๆมากขึ้น และการทำงานมีความรวดเร็วเข้าถึงปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ขณะเดียวกันแกนนำมีบทบาทในการขับเคลื่อนภาพรวมของชุมชนมากขึ้น” 

ความสำเร็จมากมายที่เกิดขึ้น มาจากแนวทางการทำงานที่ คุณธนวดี ยึดเป็นแบบอย่าง โดยการทำดีที่สุด ท่ามกลางทรัพยากรที่มีให้เต็มความสามารถ มองโลกในแง่ดี เห็นวิกฤติให้เป็นโอกาส หรือถ้าเห็นจุดผิดพลาดก็เอามาเป็นบทเรียนในการพัฒนาต่อยอดได้ เน้นการทำงานเป็นทีม เพราะไม่มีใครเป็นฮีโร่ที่จะสามารถทำงานสำเร็จได้โดยลำพัง  เนื่องจากทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกันไป

งานพัฒนาสังคมที่ควรจะก้าวไปในอนาคต คุณธนวดี มองว่า ควรเน้นการแก้ไขปัญหาทางสังคมในเชิงรุก ให้ความสำคัญกับป้องกันมากกว่าการสงเคราะห์ โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาในระยะยาว  ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเด็กครอบครัว ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ผู้พิการ และในประเด็นเชิงสุขภาพที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานทางสังคม

“เมื่อมีกองทุนภาคประชาสังคม อยากให้โอกาสประชาชนสามารถเข้ามาเป็นผู้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา มากกว่าแบบสั่งการจากภาครัฐ ได้งบประมาณโดยตรงจากภาษีโดยตรง อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์งบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากรายได้ที่ผันมาจากภาษีลอตเตอรี่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม”

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE