“พี่ไม่ใช่อยู่ดีๆ หล่นมาจากฟ้าแล้วเข้ามาทำงานเอ็มพาวเวอร์”
จันทวิภา อภิสุข หรือ พี่น้อย เธอเริ่มต้นการเป็นนักกิจกรรม ตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่เขาเรียกกันว่า “ยุคสายลมแสงแดด”
“ตอน ที่พี่เรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เป็นนักกิจกรรม แต่กิจกรรมที่ทำสมัยก่อนมันไม่มีเรื่องการเมือง แต่จะเป็นกิจกรรมนักศึกษาที่แสดงบทบาทต่างๆ ของตนเอง เช่น กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มเล่นโขน กลุ่มนักเขียน กลุ่มเชียร์กีฬา เพราะเป็นช่วงก่อน ๑๔ ตุลา พอหลัง ๑๔ ตุลาแล้ว ถึงได้มีกิจกรรมนักศึกษาที่มีทัศนะทางด้านสังคม การเมือง ก็เกิดมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสังคม ในธรรมศาสตร์ มีหนังสือพิมพ์กำแพง”
หลัง จากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ภายใต้บรรยากาศ ประชาธิปไตยแบ่งบาน กระแสสังคมในช่วงนั้น คนก็หันมาสนใจปัญหาสังคมกันมากขึ้น พี่น้อย ก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับกระแสนั้น
“พอ เรียนจบ และหลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ก็มีเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดขึ้นเยอะแยะ และประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาก็สนใจปัญหาเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ส่วนมากผู้หญิงที่สนใจเรื่องสังคม ก็จะสนใจเรื่องผู้หญิงอยู่แล้ว”
ประมาณ ปี ๒๕๒๘ เป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยว เกิดย่านท่องเที่ยวตอนกลางคืน เช่น พัฒน์พงศ์ พัทยาผสมกันการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีโรงงานทอผ้าเกิดขึ้นในหลายแห่งในกรุงเทพและชานเมือง มีแรงงานคนหนุ่มสาวจากชนบท เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพจำนวนมาก
“ในยุคนั้นก็จะมีหนุ่มสาวในต่างจังหวัด เข้ามาหางานทำในกรุงเทพ จากลูกหลานชาวนา ก็มาเป็นกรรมกรโรงงาน คนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าโรงงานก็มาอยู่แถวพัฒน์พงศ์ แถวพัทยา”
พี่ น้อยมองว่าการเกิดขึ้นขององค์กรที่ทำงานกับผู้หญิงอย่างเอ็มพาวเวอร์ ในยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด เป็นมันยุคที่คนหันมาสนใจปัญหาสังคม มีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในยุคนั้น เช่น กลุ่มศาสนาเพื่อสังคม หรือมูลนิธิผู้หญิง ที่ทำงานในเรื่องของผู้หญิง ก็เกิดขึ้นแล้วในช่วงนั้น
“แนวคิดของเราที่จะทำงาน มันเกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตปกติ พี่ก็เดินไปบนถนน แล้วก็นั่งกินเหล้า กินเบียร์ เมาเหล้าทุกคืน มีเพื่อนที่มาจากต่างประเทศ เราก็พาเขาไปเที่ยว ไปบ่อยๆ ก็เริ่มรู้จักคนในพัฒน์พงศ์ เขาก็รู้สึกว่าคุยกับเราได้ ช่วยเหลือกันได้ ก็ถามเขา เอามั้ย พี่แปลจดหมายให้ และมันก็น่าสนใจ คือ คนที่อยู่ในพัฒน์พงศ์ ลูกสาวมาเต้นอะโกโก้ แม่มาขายบุหรี่ น้ามาขายส้มตำ พี่ชายไปขับรถตุ๊กตุ๊ก มาจากหมู่บ้านเดียวกัน แล้วก็เริ่มต้นจากที่ว่า ทุกคนอยากจะเรียนหนังสือ อยากจะอ่านจดหมายที่ลูกค้าฝรั่งเขียนมา แล้วอยากจะเขียนเอง เขาอยากจะไปธนาคาร เข้าไปกรอกแบบฟอร์มบ้าๆ ของธนาคาร เขากรอกไม่เป็น มันเกิดจากชีวิตที่รู้จักกันเหมือนเพื่อนมนุษย์ แล้วก็ช่วยเพื่อนที่รู้จักกัน แล้วตอนหลังก็กลายมาเป็นโรงเรียน มานัดเจอกันทุกสี่โมงเย็น เขาทำงานกันตอนหกโมงเย็น เราก็ไปสอนภาษาไทย สอนภาษาอังกฤษ สอนไปธนาคาร ไปไปรษณีย์ ไปเขียนพวกจ่าหน้าซองจดหมาย มันเป็นพัฒนาการในฐานะเพื่อนมนุษย์ตอนหลังๆ เกิดมีคนมาเห็น เขาก็เอาเงินมาให้ แล้วก็เลยกลายเป็นโครงการขึ้นมา ทำเกิดภาระผูกพันไม่ใช่ทำแค่คนรู้จักแล้ว แต่เราต้องมองกว้าง ว่านี่คือปัญหาสังคม”
การทำงานย่อมมีปัญหา ยิ่งต้องทำงานในประเด็นที่อ่อนไหว ในสังคมที่อ้างศีลธรรมสำคัญกว่าชีวิตคนด้วยแล้ว ดูเหมือนจะยากเย็นแสนเข็นสำหรับบุคคลภายนอกที่มองเข้ามา การต้องเผชิญกับแรงกดดันในสังคมย่อมเป็นเรื่องยากจะปฏิเสธ แต่อะไรเล่า ที่ทำให้เธอและงานของเธอสามารถยืนหยัดฝ่าฟันอุปสรรคมาได้จนถึงทุกวันนี้
“งานที่พี่ทำมันไม่ยากหรอก คุณรักตัวคุณอย่างไร คุณก็ทำอย่างนั้น แนวคิดของพี่คือมีปัญหาเข้าไปแก้ปัญหา นั่นคือมีงานให้คุณทำ พอเราทำงานเราเจอปัญหา เราไม่ถือว่าอันนั้นเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรค เราเจอปัญหาเราดีใจ ว่าเออ เรามีงานทำแล้ว คนอ่านหนังสือไม่ออก ทำไมคน อายุ ๒๐ แล้วอ่านหนังสือไม่ออก แล้วทำไมคนอย่างเราทำไมอ่านหนังสือออก เราก็สอนหนังสือ มีความรู้อะไร เราก็เผื่อแผ่ แล้วมันก็เกิดเป็นโครงการขึ้นมา คนไม่รู้จะไปโรงพยาบาลยังไง แต่ทำไมเราไปเองได้ บางคนเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะสุข ก็เกิดเป็นโครงการ ทุกอย่างที่เกิดปัญหาขึ้นมา ก็เหมือนว่าเขาสอนให้เราได้ทำงาน มันมีปัญหาเราก็เข้าไปแก้ พี่มาทำงานเอ็นจีโอ เริ่มต้นก็ทำคนเดียว ตอนนี้มี ๓๕ คน มี ๑๑ จังหวัด จะเห็นว่ามันขยายออก มันคือความก้าวหน้าของชีวิต การทำงานเอ็นจีโอ มีความก้าวหน้า มีความมั่นคง มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร มีชุมชนเป็นนายจ้างเรา ถ้าเขาไม่บอกให้เราไปเขียน เราก็เขียนโครงการไม่ได้ เราถือว่าอันนี้เป็นงานที่มีเกียรติ เป็นงานที่ก้าวหน้า และก็เป็นงานที่ให้ความรู้ให้สติปัญญา การทำงานเอ็นจีโอ พี่ไม่คิดว่าเป็นงานอาสาสมัคร แต่เป็นงานอาชีพ ที่มีเกียรติ อาชีพที่มั่นคง”
ร่วมสนับสนุนกองทุนภาคประชาสังคม เพื่อให้ “พลังพลเมือง” เติบโตไปอย่างมั่นคง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : ประชาไท