กองทุนภาคประชาสังคม

ครูพายุ-ณัฐศักดิ์ ครูสอนว่ายน้ำ ฮีโร่ของเด็ก ๆ หูหนวก

 ...ถ้าเราหูดีพูดได้ ตะโกนได้ จมน้ำก็ตะโกนขอความช่วยเหลือได้ แล้วถ้าคนที่ตะโกนไม่ได้หรือคนหูหนวก จมน้ำขึ้นมาจะทำอย่างไร...

คำถามที่เกิดขึ้นในใจ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือ ครูพายุ อดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทย เลือกทางเดินชีวิตมาเป็นครูสอนว่ายน้ำให้กับเด็กหูหนวก เพื่อหวังลดสถิติการจมน้ำตายของเด็กไทย ที่นอกจากจะว่ายน้ำไม่เป็นแล้ว ยังไม่สามารถร้องเรียกขอความช่วยเหลือได้

ทว่า อุปสรรคของการสื่อสารทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ครูพายุ จะสอนเด็กหูหนวกให้ว่ายน้ำเป็นในระยะเวลาอันรวดเร็ว "ภาษามือ" จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ครูพายุ ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจศึกษามาเป็นแรมปี เพื่อนำไปใช้สื่อสารกับเด็ก ๆ เหล่านั้น วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ ครูพายุ ครูสอนว่ายน้ำจิตใจงาม ซุปเปอร์ฮีโร่ของเด็ก ๆ หูหนวกกัน

แรงบันดาลใจในการมาเป็นครูสอนว่ายน้ำเด็กหูหนวก ครูพายุเล่าให้ฟังว่า  ระหว่างที่นั่งว่าง ๆ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราหูดีพูดได้ ตะโกนได้ จมน้ำก็ตะโกนขอความช่วยเหลือได้ แล้วถ้าคนที่ตะโกนไม่ได้หรือคนหูหนวก จมน้ำขึ้นมาจะทำอย่างไร เลยเป็นที่มาของโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวก ก่อนหน้านั้น ผมเริ่มต้นจากการเป็นครูสอนว่ายน้ำให้เด็กปกติก่อน จากนั้นมีผู้ปกครองพาลูกเป็นออทิสติกมาให้ผมสอน น้องคนนี้ฉลาดมาก สามารถจำหมายเลขทางหลวงในเชียงใหม่ได้ทั้งหมด รวมทั้งหมายเลขทางหลวงในประเทศไทยที่เคยไปมาได้หลายทางมาก ผมเริ่มสนใจเด็กออทิสติก ประกอบกับตัวผมเองในอดีตเคยมีอาการของเด็กพิเศษกลุ่มหนึ่งคือ ADHD (Attention Deficit Hyperactive Disorder) หรือเด็กสมาธิสั้น ประกอบกับมีอาการลมชักร่วมด้วย คุณพ่อเลยพาไปว่ายน้ำเพื่อเป็นการบำบัด อาการเลยดีขึ้น

จากนั้นจึงคิดว่า หากบำบัดกับเราแล้วอาการดีขึ้น น่าจะช่วยเด็กสมาธิสั้นได้ เลยมีการทำคอร์สพิเศษเพื่อสอนเด็กออทิสติกจริงจัง โดยขยายความคิดนี้ไปถึงเด็กหูหนวก เพราะเด็กหูหนวกบางคนมีอาการซ้ำซ้อน ทั้งหูหนวกและออทิสติก หรือหูหนวกและเอ็มอาร์ (Mental Retradation) หรือเด็กบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งเด็กพวกนี้ก็น่าจะมีโอกาสได้เรียนด้วย

ครูพายุเล่าถึง อุปสรรคและความยากในการสื่อสารด้วยภาษามือว่า  ยากตอนเรียนภาษามือครั้งแรก เพราะไม่มีที่ไหนเปิดสอน หากมีสอนหรือมีเรียนก็จะเป็นแบบที่ง่าย ๆ และด้วยความที่หาเรียนยาก ผมเลยยิ่งอยากเรียน เรียนเองอยู่ประมาณหนึ่งปีกว่า ๆ จากการค้นคว้าหาหนังสืออ่านเอาเอง ได้คำศัพท์จากภาษามือเยอะมาก แต่ว่าใช้สื่อสารไม่ได้ เพราะไวยากรณ์ภาษามือกับไวยากรณ์ภาษาไทยแตกต่างกัน เช่น คนหูดีพูดว่า "วันนี้อากาศร้อนมาก อยากไปเที่ยวทะเล ไปด้วยกันไหม" คนหูหนวกพูดว่า "อากาศร้อนมาก ทะเลเที่ยวไหมนะ ด้วยกันไหมนะ" เข้าใจแต่ผิดไวยากรณ์  ดังนั้น ยากที่สุดคือการเรียนภาษามือเอง จนในที่สุดได้มีโอกาสได้พบครูสอนภาษามือครั้งแรก เป็นพี่ ๆ ที่ขายของตามถนนคนเดินเชียงใหม่ ช่วยสอนภาษามือและไวยากรณ์ให้ แลกกับการช่วยขายของ จนในที่สุดก็สื่อสารภาษามือได้

ประสบการณ์ที่น่าประทับใจในการสอน ครูพายุบอกว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตผมครับ ที่สอนเด็กร้อยกว่าคน แล้วไม่ต้องใช้เสียง (ไม่เมื่อยปากเลย แต่เมื่อยมือมาก) และที่สำคัญ เวลาผมไปโรงเรียนโสต (โรงเรียนโสตศึกษา อนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่) เด็กทุกคนจะวิ่งมารุมพร้อมกับถามเป็นภาษามือว่า "ว่ายน้ำวันไหน สมัครที่ไหน เรียนกี่โมง ครูพายุสอนใช่ไหม" ทำให้รู้ว่าโครงการนี้นอกจากจะสร้างประโยชน์ด้านการสอนว่ายน้ำแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ มีความสุขด้านจิตใจอีกด้วย

สิ่งที่ครูพายุอยากทำต่อไปในอนาคต “อาจจะมีการต่อยอดโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวกครับ เพราะยังมีกีฬาอื่นที่ต้องใช้พื้นฐานทางกีฬาว่ายน้ำ เช่น กีฬาพายเรือ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในระดับชาติสูงมากในอนาคต แต่ต้องมีพื้นฐานด้านการว่ายน้ำที่ดีก่อน เนื่องจากต้องฝึกพายจริงในแม่น้ำที่มีอันตรายสูงหากเกิดเรือคว่ำ”

แม้ว่าในตอนนี้  เด็กๆ จากโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวก ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ด้านอุปกรณ์ แต่ครูพายุก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป เพราะหวังเพียงแค่ได้เห็นเด็กๆ กลุ่มนี้ มีโอกาสเพิ่มขึ้นในสังคม

“กองทุนภาคประชาสังคม” จะมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนภาคประชาสังคมอย่างองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มประชาชนต่างๆ เหล่านี้ เพื่อเติมเต็ม สอดประสาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : กระปุกดอทคอม

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE