จุดเริ่มต้นจากข้าราชการตัวเล็กๆ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ ที่ต้องดูแลทั้งเรื่องเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนไร้ที่พึ่ง แม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังทำงานเพื่อสังคม ปัจจุบัน “คุณธิดา ศรีไพพรรณ” เป็นเลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และทำงานเพื่อกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ด้วยจิตวิญาณที่อยากทำด้วยความคาดหวังให้สังคมเข้มแข็ง
คุณธิดาเล่าถึงการทำงานว่า “ในช่วงเป็นข้าราชการระบบราชการต้องทำงานเป็นระบบเป็นทีม มีลำดับขั้นบังคับบัญชา ด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อสร้างศรัทธาให้เกรงใจ ให้คนอื่นเชื่อถือทำให้สามารถทำงานกับใครก็ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อนร่วมงานก็ต้องมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นแม้จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่า ทำดีเอาใส่ตัว ความชั่วให้คนอื่น”
ความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2536 แม้จะเป็นเวลาที่ผ่านมานานแล้ว แต่เป็นการทำงานที่สร้างความประทับใจจดจำและเล่าได้จนถึงทุกวันนี้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยกับกรมประชาสงเคราะห์ การผลักดันเบี้ยยังชีพช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจนโดยมีตรวจสอบผ่านหลักการทางสังคมสงเคราะห์ว่าผู้สูงอายุท่านั้นมีความจำเป็นจริงๆ โดยมีคณะกรรมการประจำหมู่บ้านเป็นผู้คัดเลือก ตอนนั้นให้เพียงหมู่บ้านละ 5 คน ทั่วประเทศประมาณ 20,000 คน คนละ 200 บาทต่อเดือน แต่ก็ประสบปัญหาว่าคนที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ส่วนเกี่ยวข้องทางเครือญาติกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งทำให้ไม่มีความโปร่งใส เมื่อลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ ทำให้คุณธิดาไม่นิ่งนอนใจ ทำให้ต้องมีชักชวนให้คณะกรรมการนั้นบริหารงานด้วยความโปร่งใส ทำอย่างไรให้เงินนั้นเหมาะสมกับคนที่ต้องการได้ ด้วยวิธีการเผยแพร่ข้อมูลว่า หมู่บ้านนี้มีผู้สูงอายุกี่คนขึ้นป้ายไว้ เนื่องจากมีจัดสรรจำนวนจำกัดเพียง 5 คนต่อหมู่บ้านเท่านั้น ก็จะมีกลุ่มสำรองทำให้เกิดความโปร่งใส่ขึ้น ก็ทำให้คนในหมู่บ้านนั้นหายแคลงใจไปได้ จนกระทั่งในปัจจุบันได้มีการมอบให้ผู้สูงอายุทุกคนและการจ่ายเงินตามขั้นบันไดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทุกครั้งที่ทำงานด้านสังคมสิ่งที่ยึดถือตลอดของคุณธิดา “ยิ่งให้ยิ่งได้ ให้เค้าเราได้ สิ่งที่เราได้แน่ๆ คือ ความสุข พอเห็นเค้าหายทุกข์เราก็มีความสุข การทำงานทำให้ได้เพื่อน และจะทำอย่างไรให้ครอบครัว ชุมชน เข้มเข็ง เพื่อประโยชน์ของสังคม “
“ความเป็นธรรมทางสังคม คนที่ความฉลาด มีความรู้ก็ไม่ควรเอาเปรียบสังคม แต่ควรจะสนับสนุนให้ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม คนได้เปรียบก็ได้เปรียบตลอดไป อย่าเอาเปรียบคนอื่นเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ควรหันมาร่วมมือทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในเรื่องของสวัสดิการทางด้านสังคมและส่งเสริมสุขภาพ เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องอาศัยเครือข่ายประสานงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนหันหน้าเข้าหากันร่วมกันทำงาน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญของแต่ละหน่วยงานเท่าเทียมกัน”
คุณธิดา ทิ้งท้ายด้วยความหวังว่า “การสร้างความเข้มแข็งทั้งกับการพัฒนาสังคม ให้เกิดความเท่าเทียมให้กับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในประเด็นผู้สูงอายุที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นๆในสังคมไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเพื่อน มีที่ยืนในสังคม อยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุข หากกองทุนภาคประชาสังคมเกิดขึ้นจริงด้วยความยืดหยุ่น มีความคล่องตัวไม่ต้องรอเงินงบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพื่อลดความลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมต่อสังคมได้”