กองทุนภาคประชาสังคม

อรุณี ศรีโต อดีตผู้นำสหภาพแรงงานไทยเกรียง / อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี

“อรุณี ศรีโต” หรือ “ป้ากุ้ง” นักสหภาพแรงงานหญิงที่ผ่านประสบการณ์การต่อสู้มาตั้งแต่ในสมัย 14 ตุลาคม 2516 เธอเป็นนักสหภาพแรงงานจากสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง ย่านพระประแดงและใกล้เคียง ป้ากุ้งเกิดที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2496 อาชีพดั่งเดิมของครอบครัวก็ทำนา พอป้ากุ้งอายุได้ 17 ปี ก็ออกเดินทางมาทำงานยังพระประแดง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหลักในขณะนั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งป้ากุ้งได้เดินทางเข้ามาทำงานยังโรงงานไทยเกรียง

“พี่เป็นแรงงานอพยพ รุ่นแรกในหมู่บ้านเลย คนอื่นไม่มีใครออกมาเลย มีคนที่อยู่พระปะแดงมาช่วยไปทำงานกันเถอะ ได้วันละ 10 สมัยนั้น ค่าจ้างปี พ.ศ.2514 เขา ก็ว่าลองไปทำดู ลองซักสามเดือน ก็ลองชวนกันมาทำดู สามคนเป็นผู้หญิงหมด ญาติที่พระประแดงเขาก็พาไปสมัคร สมัครวันนี้ พรุ่งนี้ให้ทำแล้ว”

ป้ากุ้งเล่าว่าตอนแรกตั้งใจว่าจะทำ 3-4 เดือนแล้วจะก็กลับบ้าน แต่เอาเข้าจริงแล้วก็อยู่นานทำงานยาว พอทำงานได้ 2 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ขึ้น

“ตอนที่อยู่ที่บ้านสตุ้งสตางค์มันก็ไม่ค่อยมีนะ เงินทองไม่ค่อยมี แต่อาหารการกินไม่อดนะ สมัยนั้น ในชนบท แต่เรื่องเงินทอง ไปขายมะพร้าว นานๆ ที จะได้ซะ 20 30 บาท แต่พอมีคนมาชวนให้ไปทำ ได้วันละ 10 บาท ได้ทุกวัน ก็มาเลยตอนแรกก็ตั้งใจจะอยู่ สั้นๆ แต่ทำไปทำมาก็อยู่นาน พออยู่ได้สองปี มันก็มีเรื่อง 14 ตุลา 16 เขาก็บอกว่ากรรมกร ช่วยกัน ไทยเกรียงก็ปิดโรงงานมาเลย”

ป้ากุ้งเล่าถึงสถานการณ์ช่วงนั้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานและนักศึกษาที่มีพลังมาก โดยหลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตยสำเร็จ เราก็ได้ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 ส่วนคนงานไทยเกรียงก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่เรื่อยมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยในปี พ.ศ. 2523 สหภาพ แรงงานไทยเกรียงจึงได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ทั้งนี้คนงานหญิงในไทยเกรียงยังเคยต่อสู้เรื่องประเด็นเท่าเทียมทางเพศด้วย เช่นกัน 

“หลังจากนั้นเราก็มีการนัดหยุดงานเฉยๆ สอง สาม ครั้ง ในโรงงาน หลัง 14 ตุลา ปี 16 ผู้ชายเขาจะเป็นคนนำ แต่เรามาจดทะเบียนสหภาพจริงๆ ปี พ.ศ. 2523 ปี พ.ศ. 2520 ผู้หญิงที่ทำงานในไทยเกรียงเขานัดหยุดงานกัน ด้วยเหตุผลว่าโรงงานจ่ายแต๊ะเอียไม่เท่ากันกับผู้ชาย คือผู้หญิงได้ 10 แรง ค่าจ้าง 20 บาท ก็จะได้ 200 บาท ผู้หญิงเขาก็บอกว่าทำไมโรงงานถึงให้แต๊ะเอีย ผู้ชาย 50 แรง ของค่าจ้าง แต่เขาก็ให้แบบนี้มาแต่ดั่งเดิม ตั้งแต่สร้างโรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2503 แต่เรามารู้สึกไม่พอใจ สุดทนแล้วเนี่ยปี พ.ศ. 2520 คือมันน้อยใจ และก็มีคนมาแนะแนว ว่าตั้งสหภาพเป็นยังไง ความเหลื่อมล้ำเป็นยังไง ก็เริ่มรู้หน่อยๆ แล้วก็เป็นการหยุดงานเฉยๆ ผู้หญิง 2,000 คน หยุดงานหมด มีผู้ชายประมาณ 600 ที่ไม่หยุดงาน”

จากนั้นป้ากุ้งได้เริ่มเป็นตัวแทนลูกจ้างในการยื่นข้อเรียกร้องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ร่วมเป็นกรรมการสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 – 2528 และในปี พ.ศ. 2528 ได้ รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง นอกจากนี้ป้ากุ้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ คณะกรรมการสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานฯ ฝ่ายสตรีและเยาวชน ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี

ประสบการณ์การเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของป้ากุ้งก็คือการร่วมเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายประกันสังคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ซึ่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2533 จากนั้นก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวประเด็นของแรงงานหญิงโดยเฉพาะ ผ่านยุคสมัยเผด็จการ รสช. แล้วก็ต่อมาด้วยเรื่องสิทธิลาคลอดของแรงงานหญิง 90 วัน ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของกลุ่ม “บูรณาการแรงงานสตรี”

จากการต่อสู้ของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2536 จึงมีประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานในประเด็นสิทธิการลาคลอดของลูกจ้างหญิง ซึ่งลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับเงินจากนายจ้าง 45 วัน และได้รับเงินจากประกันสังคม 45 วัน

ปัจจุบัน ป้ากุ้งได้เกษียนตัวเองจากการทำงานในโรงงาน กลับมาทำงานในชุมชนของเธอ แต่ก็ยังคงเป็น “ที่พึ่ง” ของนักสหภาพรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้คำปรึกษาด้านข้อมูล ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนงาน ที่เธอเคยผ่านมา ทั้งตามเวทีเสวนา การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับแรงงาน รวมถึงให้คำปรึกษาส่วนตัวกับนักสหภาพรุ่นใหม่ๆ

ป้า กุ้งย้ำว่าสำหรับผู้นำแรงงาน โดยเฉพาะผู้นำแรงงานหญิงนั้น จะต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีจิตใจที่แน่วแน่ในการทำงานด้านสหภาพแรงงาน รวมถึงบุคลิกที่เป็น “ผู้ประสาน” เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องสมานฉันท์การต่อสู้ทั้งชายและหญิงเข้าด้วยกันถึง จะประสบความสำเร็จ

“ถ้า คิดว่าเราอยากเป็นผู้นำ เราจะต้องเตรียมเพื่อฝึกฝนตัวเองให้มีความรู้ความสามารถ คือมันต้องมีการพัฒนาตนเอง ให้มีเหตุมีผล รู้เรื่อง รู้ข้อมูล ผู้นำที่แท้จริง ต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ ฝึกฝนทางภูมิปัญญาเข้าไว้ เวลาเจรจากับนาย เจรจากับรัฐบาล ไม่ด้อย และไม่ถูกผู้นำกลุ่มอื่นๆ เขามองว่า แค่นี้เองเหรอ ต้องพยายามที่ต้องอ่อนนอกแข็งใน ในอดีตของการต่อสู้แรงงานหญิง พี่ก็ไปขอความช่วยเหลือจากผู้ชาย พี่บอกว่าเราแย่แล้ว ถ้าผู้ชายไม่มาช่วย เรายอม มาหมดเลยนะ ถ้าเราขอความร่วมมือนะ ท่าทีที่อ่อนน้อมมันจะได้ใจคน”

ป้ากุ้ง อรุณี ศรีโต เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ “พลังพลเมือง” ที่น่ายกย่อง กองทุนภาคประชาสังคม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ทุกคนเกิด “สำนึกพลเมือง” เพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : ประชาไท/100 ปีวันสตรีสากล: ทัศนะผู้หญิงในขบวนการแรงงาน-ชาวบ้าน

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE