กองทุนภาคประชาสังคม

มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ : รับรู้ เรียนรู้ เพื่อโลก

10 ปีแล้ว กับการทำงานสร้างกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติให้กับเด็กและเยาวชนไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการปลูกจิตสำนึก หรือ 'การสร้างคน' ให้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ไปรู้จักและเกิดความรู้ เห็นความงามและตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถ 'คิดรู้' ถึงการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไม่เบียดเบียน อีกหนึ่งองค์กรที่ร่วมสร้างสังคม และปลุกจิต “สำนึกพลเมือง”

                มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนหลายอาชีพ ทั้งนักธุรกิจ พิธีกร และนักโฆษณาที่เห็นความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมงานหลักของมูลนิธิ คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เน้นการปลูกจิตสำนึกแทนการปลูกต้นไม้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนที่ได้รับการสร้างจิตสำนึกผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางธรรมชาติโดยวิธีการทางศิลปะผ่านการสัมผัสธรรมชาติจริงในรูปแบบและวิธีการที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                ด้วยเชื่อว่า เมื่อเด็กๆ เกิดสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นคนที่มีคุณภาพ มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนด้วยกระบวนการสร้างให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติจริงภายใต้หลักความคิดที่ว่า ความจริง ความงาม ความดี ผ่านกิจกรรมที่ออกแบบเหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย พร้อมสอดแทรกศิลปะพื้นฐานกับความสนุกเข้าไว้ด้วยกัน
                มูลนิธิทำงานโดยไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว การลองผิดลองถูกทำให้เกิดองค์ความรู้มากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าการลงมือทำจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น และทุกเมล็ดที่ปลูกลงไปแม้จะเกิดผลเพียงเล็กน้อย แต่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง เหมือนความเชื่อที่ว่าในดวงจันทร์มีกระต่าย และเมื่อเรามองไปทีไรก็จะเห็นกระต่ายตัวนั้นทุกครั้ง
                วิสัยทัศน์ของมูลนิธิ คือ หากทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นแม้อีกเพียงนิดเดียวก็เป็นงานที่มีค่าและควรทำอย่างยิ่ง  ส่วนพันธกิจ คือ การอำนวยการฟื้นคืนมาของป่าไม้และธรรมชาติ โดยการสนับสนุนให้คนได้รับความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการได้ เอื้อประโยชน์และเน้นการปลูกจิตสำนึกให้รู้จักใช้ รู้รักษาเกิดคุณค่าและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ
 กลุ่มเป้าหมาย คือ การทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่กลุ่มเป้าหมายนั้นเล็งไปที่มนุษย์ซึ่งเป็นผ็ที่สร้างสรรค์และทำลาย ทั้งนี้ กลุ่มที่เหมาะสมที่สุดคือกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากเป็นวัยที่เหมาะสมในการปลูกจิตสำนึก อีกทั้งยังเป็นวัยที่ปลอดจากอุปสรรคในการเรียนรู้และมากที่สุด  ภารกิจ คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยมีหลักการว่าการเรียนรู้นั้นจะต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดการรักษาดูแลหรือป้องกัน พัฒนาสิ่งแวดล้อมภายใต้บรรยากาศที่สนุกสนาน สามารถสัมผัสได้ด้วยหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ (จินตนาการ)
                สำหรับโครงการหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีป่าต้นน้ำเขากระโจมและชุมชนผาปกค้างคาว ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งพื้นที่การทำงานสำหรับตรวจสอบองค์ความรู้ และติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เกิดเป็นโครงการในชุมชน ดังนี้
                โครงการเพื่อการป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติด้วยวิธีการทางศิลปะ ได้แก่ โครงการศึกษาธรรมชาติโดยศิลปวิธี, โครงการเด็กสร้างสื่อ สื่อสร้างเด็ก และ โครงการดนตรีรักษ์สิ่งแวดล้อม 
                โครงการเพื่อชะลอปัญหาและเพื่อพัฒนาชุมชน ได้แก่ โครงการสร้างอาชีพชุมชน โดยการฝึกอาชีพงานฝีมือที่นำเสนอความงามในธรรมชาติผ่านงานเย็บปักถักร้อยในผืนผ้าให้กับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน และโครงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปลายเหตุ คือ โครงการป้องกันและดับไฟป่าเขากระโจม โดยมูลนิธิได้ดำเนินโครงการป้องกันและดับไฟป่าเขากระโจมมาตั้งแต่ปี 2544-2547 เป็นเวลา 4 ปี           
                 บัดนี้ โครงการป้องกันและดับไฟป่าเขากระโจมเปลี่ยนเจ้าภาพจากมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ไปเป็นชุมชนเอง โดยมีการพูดคุยเมื่อปลายปี 2547 และดำเนินการในปี 2548 ถัดมา และมูลนิธิขยับบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุน
 ในระดับประเทศ โครงการ Kids เอง ที่มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ลงมือดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังก็เกิดขึ้นตามมา โดยมี 2 ปฏิบัติการต่อเนื่อง คือ Key Camp ค่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนแกนนำให้เกิดความรู้ เพื่อสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง และ Keep ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดต่อเนื่อง ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง ที่นอกจากช่วยให้เขา “คิดเป็น” แล้วยัง “ทำเป็น” อีกด้วย และเพื่อให้เด็กๆ ในเมืองใหญ่ได้มีโอกาสรู้จักธรรมชาติมากขึ้น จึงเกิดโครงการกระต่ายตื่นตัว ซึ่งเป็นกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติในรูปแบบค่าย 5 วัน 4 คืนบ้าง 3 วัน 2 คืนบ้าง ให้เด็กๆ ในเมืองใหญ่ (8-12 ขวบ) ได้ตื่นตัวที่จะรู้จักธรรมชาติมากขึ้น และได้รับความสุขจากธรรมชาติโดยตรงโดยผ่านกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ เป็นเครื่องมือ 
                เพราะเราเชื่อว่าการบ่มเพาะและการโอบอุ้มเมล็ดพันธุ์ภายใต้บรรยากาศที่ดี ที่เป็นสุข... จะทำให้ป่าและธรรมชาติกลับคืนมา การปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความรักในธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จิตสำนึกต้องการเวลาจะปลูก จะเพาะ ต้องรดน้ำ ต้องรอเติบโต

 

"กองทุนภาคประชาสังคม เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปสังคมเพื่อสร้างพลังพลเมือง"

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

                                      มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE