ท่ามกลางค่านิยม ชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับการส่งเสริม สนับสนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวบ้านโดยเฉพาะขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ที่มีพัฒนาการประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องที่ดินมายาวนานนับตั้งแต่สมัย สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จนถึงการเคลื่อนไหวของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-MOVE จะเห็นว่าบทบาทการออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิ์ส่วนใหญ่จะเป็นบทบาทหน้าที่ของแกนนำที่เป็นผู้ชายเป็นหลักซึ่งรวมไปถึงบทบาทการออกมาแสดงตัวความเป็นเจ้าของปัญหาผ่านการเป็นผู้นำเสนอปัญหาให้กับผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจทางนโยบาย เช่น รัฐบาล กระทรวง กรม กอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ หรือแม้แต่บทบาทการเป็นคีย์แมนผู้นำเสนอปัญหาผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ เราจะเห็นแกนนำชายมีบทบาทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะเห็นว่าในโครงสร้างการบริหารจัดการของกลุ่ม องค์กร เครือข่ายชาวบ้านส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยดูได้จากสัดส่วนคณะกรรมการต่างๆในระยะเริ่มแรกของการบริหารจัดการกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านโป่งจะเห็นว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเกือบทั้งหมดผู้หญิงที่เป็นสมาชิกกลุ่มปฏิรูป
ที่ดินที่ผ่านมากลับเป็นกองกำลังสำคัญในการสนับสนุนขบวนที่ดินเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นการร่วมออกไปเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายระดับจังหวัด ภาค หรือการเคลื่อนไหวระดับชาติ แม้ว่ากลุ่มผู้หญิงเหล่านี้จะไม่มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมก็ตาม โดยแท้จริงแล้วในระดับครอบครัวผู้หญิงเป็นผู้ที่มีอำนาจ หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์การจัดการที่ดินมากกว่าผู้ชาย
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ
ในช่วง 4-5 ปี ให้หลังที่ผ่านมากลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่งเริ่มมีการปรับตัวและสรุปบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารจัดการองค์กร สมาชิกและคณะกรรมการเริ่มเห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของบทบาทหญิง – ชาย ในองค์กรมากขึ้น ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กรขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนและองค์ประกอบผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในกลไกคณะกรรมการมากขึ้นโดยเฉพาะการมอบหมายบทบาทผู้หญิงในการบริหารจัดการกองทุนธนาคารที่ดินชุมชน ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนทั้งหมด 17 คน จำแนกเป็น คณะกรรมการชาย 5 คน คณะกรรมการผู้หญิง 12 คน
การบริหารจัดการกองทุนธนาคารที่ดิน
กองทุนธนาคารที่ดินชุมชนก่อตั้งขึ้นในปี 2545 ภายหลังการเข้าปฏิรูปที่ดินเอกชนรกร้างของกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่งเงินก้อนแรกของกองทุนธนาคารที่ดินได้มาจากการขายไม้ฟืนที่ได้จากการแผ้วถางเปิดพื้นที่เป็นเงินประมาณ 70,000 บาท ในช่วงแรกของการระดมเงินเข้ากองทุนธนาคารที่ดินเพิ่มเติม ได้มีการเก็บเงินออมจากสมาชิกแปลงละ 100 บาทต่อปีด้วย ภายหลังสมาชิกกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่งเห็นร่วมกันว่ากองทุนธนาคารที่ดินเติบโตช้าจึงมีข้อตกลงเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการระดมทุนในปี 2556 เป็น “กองทุนชะอม” โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกทุกรายจะต้องสมทบชะอมให้กลุ่มเดือนละ 2 กิโลกรัม แบ่งเป็นสองงวด งวดแรกทุกวันที่ 1 ของเดือน และงวดสองทุกวันที่ 15 ของเดือน รูปแบบการระดมจะเป็นการเก็บเงินตามมูลค่าของชะอม ณ วันที่กำหนดให้สมาชิกระดมทุนเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน เช่นณ วันที่ 1 ของเดือนมกราคม ราคาชะอมกิโลกรัมละ 15 บาท สมาชิกจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนธนาคารที่ดินเป็นเงิน 15 บาท เท่ากับว่าสมาชิกได้สมทบชะอมให้กลุ่มแล้ว 1 กิโลกรัมๆละ 15 บาท ณ วันที่ 15 ของเดือนมกราคม ราคาชะอมกิโลกรัมละ 20 บาท สมาชิกจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนธนาคารที่ดินเป็นเงิน 20 บาท เท่ากับว่าสมาชิกได้สมทบชะอมให้กลุ่มแล้ว 1 กิโลกรัมๆละ 20 บาท รวมสองครั้งต่อเดือน สมาชิกได้สมทบชะอมเข้ากองทุนแล้ว 2 กิโลกรัม และมอบหมายให้คณะกรรมการผู้หญิง 4 คนเป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้แหล่งที่มาของเงินในส่วนนี้ยังได้มาจาก เงินรายได้จากการขายพืชผลและค่าให้เช่าที่ดินแปลงรวม เงินออมของสมาชิกเป็นรายกิจกรรม และเงินรายได้จากการเปลี่ยนมือที่ดินของสมาชิกกลุ่ม ซึ่งกำหนดไว้ว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมีมูลค่าแปลงละ 30,000 บาท หากสมาชิกต้องการเปลี่ยนมือที่ดินหรือลาออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทางกลุ่มจะคืนเงินให้สมาชิกเจ้าของแปลงเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท และนำเงินที่เหลือเข้ากลุ่มเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท โดยแบ่งเข้ากองทุนธนาคารที่ดินจำนวน 14,000 บาท และกองทุนขับเคลื่อนจำนวน 6,000 บาท ถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน ต่อมาในปี 2557 ทางกลุ่มได้ปรับให้มีการเพิ่มราคาประเมินสินทรัพย์ในแปลงปฏิรูปที่ดินของสมาชิกเข้าไปประกอบด้วย หากมีความต้องการเปลี่ยนมือที่ดินหรือลาออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม สมาชิกเจ้าของแปลงจะได้รับเงินคืนในส่วนราคาสินทรัพย์เพิ่มเติมจากราคาที่ดินที่กลุ่มกำหนดให้ด้วย ส่วนเงินสำหรับนำเข้ากองทุนกลุ่มยังคงตั้งไว้ตามยอดเดิม
กลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่งได้กำหนดวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนธนาคารที่ดินสำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ปัจจุบันกองทุนธนาคารที่ดินมียอดเงินกองทุนประมาณ 120,000 บาทและได้แบ่งเงินกองทุนจำนวน 100,000 บาท ให้คณะกรรมการกองทุนสัจจะออมทรัพย์นำไปปล่อยให้สมาชิกกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 บาทต่อปี
กองทุนขับเคลื่อน
กองทุนขับเคลื่อนก่อตั้งขึ้นต้นปี 2546 ภายหลังการเข้าปฏิรูปที่ดินเอกชนรกร้างของกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่งได้ระยะหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดินในระดับนโยบาย โดยเงินกองทุนจะนำไปใช้เป็นค่าเดินทางค่าพาหนะ ค่าตอบแทนคณะกรรมการหรือตัวแทนสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ไปร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการประชุม และงานรณรงค์ เป็นต้น
การระดมเงินเข้ากองทุนขับเคลื่อนในช่วงแรกจะเก็บจากสมาชิก แปลงละ10 บาทต่อเดือน ต่อมาในปี 2553 ทางกลุ่มได้ปรับเพิ่มเงินทุนเป็นแปลงละ 20 บาทต่อเดือน
กองทุนสัจจะออมทรัพย์
กองทุนสัจจะออมทรัพย์ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินกองทุนมาให้สมาชิกได้กู้ยืมเพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเกษตร การปรับปรุงพื้นที่ และเป็นสวัสดิการให้สมาชิกได้นำไปใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงเก็บไว้เป็นทุนทรัพย์ของสมาชิกกลุ่มแต่ละรายด้วย โดยในช่วงแรกกลุ่มได้กำหนดให้สมาชิกทุกรายออมเงินเข้ากองทุนสัจจะออมทรัพย์เป็นเงินหุ้นละ 10 บาทต่อเดือน เมื่อเห็นว่ากองทุนโตช้าไม่สามารถปล่อยให้สมาชิกกู้ยืมใช้ประโยชน์ได้ ในปี 2557 (20 ม.ค.)จึงมีการปรับเพิ่มเงินออมจากหุ่นละ 10 บาทต่อเดือน เป็นหุ้นละ 100 บาทต่อเดือน โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้ถือหุ้นๆละ 100 บาทมีสิทธิ์กู้ยืมเงินได้ ในการกู้ยืมจะมีดอกเบี้ยร้อยละ1 บาทต่อเดือนแต่หากถึงกำหนดเวลาต้องชำระเงินคืนแล้วสมาชิกไม่ชำระ คณะกรรมการมีสิทธิ์ยึดแปลงที่ดินคืนเพื่อเอาสิทธิ์ให้สมาชิกอื่นต่อไป กรณีสมาชิกที่ไม่ประสงค์จะเพิ่มหุ้นเป็น 100 บาทแต่ยังถือหุ้นๆละ10บาทจะไม่มีสิทธิ์การกู้ยืมเงินจากกองทุนสัจจะออมทรัพย์นี้
กองทุนสัจจะออมทรัพย์กลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ทั้ง 3 กองทุนนี้ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กรขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนและองค์ประกอบผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในกลไกคณะกรรมการโดยเฉพาะการมอบหมายบทบาทผู้หญิงในการบริหารจัดการกองทุนมากขึ้นซึ่งทำให้เห็นศักยภาพของผู้หญิงที่มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการขับเคลื่อนงานร่วมกับผู้ชาย ซึ่งการแบ่งบทบาทหน้าที่กันทำงานจะทำให้งานต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
เรื่องโดย: ปุณญภัส กมลเนตร