กองทุนภาคประชาสังคม

แพรกหนามแดง...ชุมชนแห่งความยั่งยืน

หากกล่าวถึงชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทุกคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จากการเข้าร่วมกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นในขณะนั้น โดยมีนายปัญญา โตกทอง และแกนนำชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการน้ำในลำคลองตำบลแพรกหนามแดงที่มีทั้งปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและคุณภาพน้ำในลำคลอง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่มีของคน 2 ฝั่งน้ำจืดและฝั่งน้ำเค็มมากว่า 20 ปี จากปัญหาการเปิด – ปิดประตูกั้นน้ำเค็ม

 

 

ปัญหาน้ำเค็มของชุมชนแพรกหนามแดง

จากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มดินเหนียว มีลำคลองที่เชื่อมโยงกันถึง 36 ลำคลอง ลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันตก จึงมีการไหลเวียนของน้ำขึ้น – น้ำลงตลอดทั้งปี ลำคลองใสสะอาด ทำให้คนในชุมชนแพรกหนามแดงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งธรรมชาติ ในฝั่งน้ำเค็ม เลี้ยงปลาสลิด ปลูกข้าวปลอดสาร ทำสวนผักในฝั่งน้ำจืด และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีระบบนิเวศสามน้ำที่ทำให้น้ำเค็มหนุนเข้ามาในพื้นที่ แต่ในอดีตก็มีนายกิมเลี้ยง วังตาล หรือ หลวงสิทธิ์เทพการ ก็สามารถจัดการน้ำเค็มด้วยการสร้างทำนบคันดินกั้นน้ำเค็ม โดยให้ทุกคนมาช่วยกันเปิดทำนบในช่วงน้ำหลากและปิดทำนบในช่วงน้ำเค็มรุก ต่อมาได้ชาวบ้านได้ถอนตัวจากการดูแลทำนบ กรมชลประทานจึงเข้ามาช่วยดำเนินการต่อโดยการทำคันกั้นน้ำเค็มตามแนวเดิม แต่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาน้ำเค็มที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงนำความเดือดร้อนเข้าไปแจ้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามและนายอำเภออัมพวาในช่วงปลายปี 2522 และมีการสำรวจพื้นที่เพื่อทำประตูกั้นน้ำจืดน้ำเค็มจำนวน 15 ประตูในเขตตำบลแพรกหนามแดงซึ่งแล้วเสร็จในปี 2525 แต่สามารถเปิดปิดประตูได้เพียง 10 ประตู ส่วนที่เหลือไม่มีน้ำในคลองจึงไม่ได้มีการเปิดปิด รวมทั้งเมื่อมีการตัดถนนพระราม 2 ในช่วงปี 2516 ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมาเปิดในพื้นที่เพิ่มขึ้น มีการปล่อยน้ำเสียลงคลอง เมื่อมีการเปิด – ปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้คนฝั่งน้ำเค็มได้รับความเสียหาย กุ้งปลาตาย และนาข้าวของคนฝั่งน้ำจืดได้รับผลกระทบจากการที่มีน้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่

 

การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้กับการจัดการน้ำในชุมชน

กระบวนวิจัยทำให้ชาวบ้านหันหน้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เริ่มจากการสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคีในชุมชน การสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผ่านการเล่าเรื่องราวในอดีตและการเก็บรวบรวมข้อมูล จัดหมวดหมู่ และสรุปวิเคราะห์ข้อมูลทั้งคุณภาพน้ำ การจัดการน้ำในอดีต วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ เพื่อค้นหาสาเหตุของการจัดการน้ำที่ผ่านมา ทำให้ทราบองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีในชุมชน จนเกิดการออกแบบบานประตูหับเหยของนายอุมา ศิลาวงศ์ ชาวบ้านที่นำองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องบานหน้าต่างชาวบ้านน้ำจืดและการระบายน้ำของคนน้ำเค็ม มีความกว้างของขนาดประตูเท่ากับลำคลอง ทำให้สามารถระบายน้ำจากส่วนบนของบานประตูให้ไหลไปได้ เมื่อน้ำทะเลขึ้นและลงประตูน้ำจะเปิด-ปิดเองตามปริมาณน้ำ โดยที่น้ำเสียจากก้นคลองไม่ได้ไหลลงไป และระบายน้ำได้ในเวลา 2 วัน ไม่ส่งผลกระทบกับชาวนากุ้ง ควบคู่ไปกับการได้ข้อตกลงในการเปิด-ปิดน้ำจากการพูดคุยร่วมกัน คือ เปิดในช่วงน้ำตาย วันแรม 7 ค่ำ และปิดก่อน 14 ค่ำ เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีเชื้อกุ้งและอาหารในธรรมชาติ และในช่วงที่เปิดประตูควรเป็นช่วงที่น้ำเต็มคลองและกำลังเริ่มลดลง เพื่อที่น้ำเสียจะได้ไหลไปรวมกับน้ำเค็ม เป็นการช่วยปรับสภาพน้ำทำให้ปลา กุ้ง และสัตว์น้ำสามารถอยู่รอดได้ ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจและลดความขัดแย้งลง ทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมา มีการช่วยกันขุดลอกคูคลองและกำจัดวัชพืชในคลองธรรมชาติเพื่อให้น้ำไหลเวียนได้สะดวก และมีการประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการน้ำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

การจัดการน้ำสู่การจัดการชีวิต

นอกจากนี้ แกนนำชุมชนได้มีการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตำบลแพรกหนามแดงควบคู่กันไปในปี 2545 ตามแนวคิดกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต จากวัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดตราด ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายพันธมิตรประชาคมคนรักแม่กลองและสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม (Social Investment Fund : SIF) เพื่อรวมพลังคนในชุมชนเพื่อลุกขึ้นมาจัดการน้ำและจัดการชีวิต จากเดิมมีเงินออมจำนวน 116,000 บาท เป็น 9,16,6607 บาท และจำนวนสมาชิกจาก 116 คน เป็น 1,459 คน ยอดเงินฝากสะสมเป็นกองทุนเพื่อกู้ยืมที่เป็นของคนในชุมชนสูงถึง 7,066,607 บาท กองทุนสวัสดิการกลุ่มสัจจะ 2,100,000 บาท ก่อเกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนคนแพรกหนามแดงไม่ทอดทิ้งกันถึง 3,154,969 บาท (รวมสบทบจากรัฐบาล) และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

 

การจัดการชีวิตนำไปสู่การจัดสวัสดิการชุมชน

จากการจัดการน้ำ ก่อเกิดการจัดสวัสดิการที่มีในธรรมชาติให้กลับคืนมา ทั้งลำคลองและการปลูกต้นไม้กินได้ การนำพืชผักพื้นถิ่นมาใช้ประกอบอาหาร และการขยายผลไปยังการจัดสวัสดิการเรื่องบ้านมั่นคงร่วมกับหลวงพ่อบุญมี เจ้าอาวาสวัดเจริญรัตนาราม (วัดเพชรรัตน์) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน 18,731,100 บาท งบสนับสนุนอื่นๆ จำนวน 8,798,000 บาท รวมทั้งสิ้น 27,529,100 บาท โดยการจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเจริญมั่งมีมั่นคง จำกัด ดำเนินงานปลูกบ้าน 114 หลัง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสวัสดิการกองทุนเมตตาธรรมวันละ 1 บาท ขึ้นมาในระดับตำบล เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 มีสมาชิกแรกเริ่ม 193 คน เงินทุน 5,983 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,459 คน รวม เงินทุน 2,548,549 บาท เพื่อให้เป็นสวัสดิการชุมชนคนแพรกหนามแดงไม่ทิ้งกัน มีการจัดสวัสดิการตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อเป็นสมาชิกครบ 180 วัน (ข้อมูลปี 2558) ตลอดจนมีการเปิดสถาบันการเงินชุมชนแพรกหนามแดงภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558

 

ปัจจุบันชุมชนแพรกหนามแดงได้มีการสร้างเด็กและเยาวชนให้เกิดสำนึกรักท้องถิ่น เพื่อสานพลังการขับเคลื่อนงานจากรุ่นต่อรุ่นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีหัวใจสำคัญในการทำงาน คือ การมีส่วนร่วม การทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการบูรณาการข้อมูลไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชุมชนเข้มแข็งที่มีพลวัตรจนเป็นที่ยอมรับในสังคม เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานจากชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 10 ปี 

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE