กองทุนภาคประชาสังคม

นาข้าวอินทรีย์… ทางเลือกทางรอดของชาวนาแห่งท้องทุ่งสามร้อยยอด

 

เมื่อผ่านเข้าไปในชุมชนบ้านห้วยขมิ้น ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเห็นนาข้าวสลับกับทิวเขาเป็นช่วงๆ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำจืดท่วมขังตลอดปี ชาวบ้านประกอบอาชีพทั้งการทำนา ทำไร่ ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง แต่อาชีพหลักที่สำคัญ คือ การทำนาข้าว โดยพื้นที่ทำนาข้าวจะกระจายอยู่ตอนบนมีทางรถไฟเป็นเขตกั้น พื้นที่ตอนล่างซึ่งอยู่ติดกับเขตอุทยานเขาสามร้อยยอดชาวบ้านจะหาปลาและขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ในอดีตชาวนาจะอาศัยน้ำหลากที่ไหลผ่านของแต่ละปีในการเพิ่มอินทรีย์สารให้กับนาข้าว ต่อมาเมื่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาในพื้นที่ เกิดระบบสาธารณูปโภคมากมาย มีการวางระบบคมนาคมและชลประทาน ทำให้ส่งผลต่อการไหลของน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตามมา เช่น ในฤดูน้ำหลาก เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำนาเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ จนไม่สามารถทำนาได้ในบางพื้นที่ ต้องใช้เครื่องมือ เครื่องทุ่นแรง  การใช้รถไถเดินตาม เข้ามาช่วยมากขึ้น และใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำให้ต้นทุนในการทำนาสูงขึ้น เป็นต้น ระบบการเกษตรจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การทำนาข้าวแบบเดิม การไถเตรียมดินที่มาจากการใช้แรงงานวัวควายกลายเป็นเครื่องจักรกล มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในการเพิ่มผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่ามากกว่าการทำการเกษตรเพื่อยังชีพอย่างในอดีต บางช่วงเกิดความขัดแย้งจากการจัดการระบบน้ำไม่เพียงพอกับการประกอบอาชีพทั้งการเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งและการทำนาในพื้นที่ หากปล่อยให้สถานการณ์ปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชุมชนได้

 

สภาพปัญหาการทำนาของทุ่งสามร้อยยอด

นายนิจ อภิรักษ์ชัยพร และนายละมัย นาคโต เพื่อนร่วมทีมแกนนำชุมชน จึงช่วยกันค้นหาแนวทางการจัดการทำนาข้าวอย่างเหมาะสมในบ้านห้วยขมิ้น เริ่มจากการรื้อฟื้นการพูดคุยเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ในอดีตจนพบว่า ชุมชนเดิมจะมีน้ำหลากที่ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของผืนดิน เมื่อน้ำหลากมาทำให้ชาวบ้านสามารถมาร่วมกันจับปลาแบ่งกันกินในหมู่บ้านได้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า เมื่อมีระบบชลประทานเข้ามาในปี 2524 ทำให้ชาวนาสามารถทำนาได้ปีละ 2 – 3 ครั้ง จึงเปลี่ยนจากการทำนาปีมาเป็นการทำนาปรังเพื่อหวังรายได้เพิ่มขึ้น ต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการดูแล ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามทำนาเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตที่ได้กลับลดลง และราคาข้าวต่ำมาก รายได้หลังหักต้นทุนแล้วเหลือเงินประมาณพันกว่าบาทต่อไร่ ซึ่งยังไม่รวมค่าแรงของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่มีการลงแขกช่วยกันทำนาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การดำนา และการเก็บเกี่ยว ที่เชื่อมโยงกับประเพณีรับขวัญเมื่อข้าวตั้งท้อง

 

ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อแก้ปัญหาการค้าข้าว

นอกจากนี้ชาวนายังรวมตัวกันแก้ไขเรื่องราคาข้าวตกต่ำ โดยการไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอสามร้อยยอดในปี 2551 ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยขมิ้น กิจกรรมหลักของกลุ่ม คือการรับซื้อข้าวภายในชุมชนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง การรวมคนมาร่วมเรียนรู้งานวิจัย และฝึกเรื่องการบริหารจัดการภายในกลุ่ม ซึ่งการรับซื้อข้าวเปลือกในครั้งแรก ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยขมิ้น มีสมาชิกทั้งในและนอกชุมชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก มีสมาชิกจำนวน 100 – 200 คน มีคณะทำงาน 10 คน ประกอบด้วย คณะทำงานตรวจสอบข้าว (1) คณะทำงานชั่งข้าว (2) และคณะทำงานคิดเงิน (3) อย่างละ 2 – 3 คน เพื่อทำงานสลับหน้าที่กัน และมีคณะกรรมการจากผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน และจะเรียกประชุมก่อนที่จะเปิดลานค้าข้าว 1 เดือน เพื่อให้คณะกรรมการไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับทราบว่าจะมีการค้าขายข้าวและเพื่อเตรียมความพร้อมทีมทำงานทั้ง 10 คน ในช่วงแรกไม่มีงบประมาณไปขอยืมเงินจากสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด แต่ด้วยข้อติดขัดเรื่องระบบการทำงานของสหกรณ์ ต่อมาจึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต. เพื่อมาดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการของกลุ่มในปี 2551 และปี 2553 เปิด 2 ครั้ง ช่วงนาปีและนาปรัง แม้ว่าจะขาดทุน 50,000 บาท / ปี แต่การดำเนินงานในปี 2552 เปิด 2 ครั้ง ช่วงนาปีและนาปรัง ได้กำไร 200,000 บาท สำหรับในปี 2554 ไม่เปิดดำเนินการ เนื่องจากรัฐบาลจำนำราคาข้าวสูงมากถึง 14,800 บาท / ตันในขณะนั้น หากเปิดก็จะขาดทุน ต่อมามีการรวมกลุ่มของพ่อค้าในการจำกัดโควตาการรับซื้อข้าวจากชาวนา ทำให้ไม่สามารถบริหารลานค้าข้าวได้ จึงให้พ่อค้ามาเช่าลานค้าข้าวเป็นรายปีจะมีกำไรจากค่าเช่าประมาณปีละ 100,000 - 150,000 บาท และนำเงินไปปันผลให้กับสมาชิก 


นาข้าวอินทรีย์  ทางรอดของชาวนา

ผลพวงจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทำให้ชาวนาเห็นแสงสว่างในการจัดการระบบการทำนาข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ชุมชนบ้านสามร้อยยอด ทั้งเรื่องการเรียนรู้เข้าใจสภาพพื้นที่ น้ำ อากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หันกลับมาใช้สารชีวภาพและหันกลับมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพราะการใช้สารเคมีจะส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพและการพึ่งพาสารเคมีในการผลิตก็จะทำให้ผลกำไรน้อยลง มีการจดบันทึกกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน รวมถึงรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถทราบข้อมูลและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ชาวนาจึงไปศึกษาดูงานการทำนาข้าวอินทรีย์ของลุงสมบูรณ์ แดงอรุณ ชาวนาฝั่งน้ำจืดของชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และกลับมาลงมือทำ วันนี้ชาวบ้านมีความสุขจากการที่แกนนำกลุ่ม 2 คน ลุกขึ้นมาทำนาข้าวอินทรีย์รวม 100 ไร่ ในปี 2554 ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ตัน/ไร่ แม้ว่าราคาขายเพียง 6,823 บาท/ตัน แต่ต้นทุนการผลิตมีเพียงการเตรียมดินและค่าเก็บเกี่ยวประมาณ 1,000 กว่าบาท ทำให้มีรายได้เหลือจนสามารถซื้อที่ดินในการทำนาได้ 5 ไร่ ราคา 170,000 บาท และขยายผลไปยังชาวบ้านอีกร้อยละ 50 ที่เริ่มปรับเปลี่ยนจากการทำนาข้าวมาเป็นแบบกึ่งสารเคมีกึ่งอินทรีย์ รวมทั้งช่วยพูดคุยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อการทำนาข้าวต่อจากรุ่นพ่อแม่ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำนาข้าวอินทรีย์ทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่มีการเจ็บป่วย

“สำหรับตนเองอนาคตการทำนาข้าวอินทรีย์...คนที่มีปัญญาจึงจะเห็นและทำตาม การเก็บพันธุ์ข้าวช่วยลดค่าใช้จ่าย ต้องเก็บพันธุ์ข้าว 20 กก. / ไร่ เมื่อเห็นต้นข้าว...จะต้องเห็นเส้นทางของต้นข้าวจนนำไปสู่ความสำเร็จ เห็นรายละเอียดและมีความรู้ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำนาข้าว แม้กระทั่งการฉีดสารชีวภาพ หากฉีดสารพ่นข้างบนบริเวณปากใบ เพื่อให้พืชนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีเพื่อนชวนคิดช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามไปได้ ควบคู่กับการตรวจคุณภาพดิน การใส่ปุ๋ยจะอาศัยประสบการณ์ สภาพอากาศก็สามารถบอกเราได้ เช่น ร้อนอบอ้าวจะมีเชื้อรา หนาวก็จะมีพวกราน้ำค้าง เรียนรู้จากการอ่านหนังสือแล้วนำมาทดลองทำ มีการใช้สารมังคุดในการฉีดพ่นใบข้าว เป็นต้น คนมักคิดแยกส่วน หากจะบอกให้เขาทำตามทำได้ยาก ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ตอนนี้กำลังฝึกลูกเขยให้ทำนาข้าว และมีแนวร่วมที่จะเปลี่ยนมาทำนาข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีก 4 – 5 ราย”   นายนิจ อภิรักษ์ชัยพร กล่าวด้วยความตื้นตันใจที่มีวันนี้ได้ด้วยการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ทำให้ค้นหาทางออกร่วมกันของตนเอง ครอบครัว เพื่อน และคนในชุมชนในทางที่ดีได้   

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE