ชีวิตคนเราก็เหมือนนิยาย บางคนอาจจะเปิดฉากด้วยรอยยิ้ม แต่ต้องปิดฉากลงพร้อมกับคราบน้ำตา ส่วนบางคนอาจต้องเปิดฉากมาพร้อมกับอุปสรรคนานัปการ ล้มบ้าง ลุกบ้าง คลุกฝุ่นบ้าง แต่สุดท้ายก็สามารถลุกขึ้นมายืนได้ด้วยเท้าทั้งสองข้างของตนเอง …เหมือนกับชีวิตของชายผู้หนึ่ง เค้าได้รับบทบาทที่สำคัญมากในละครเรื่องนี้ ได้แสดงเป็นพระเอก แต่น่าเศร้าเหลือเกินที่ละครเรื่องนี้เป็นละครชีวิต ที่แสนจะรันทดและน้ำเน่าสุดๆ
ละครชีวิตเรื่องนี้ทำให้ชายคนนี้ต้องพบเจอกับความลำบาก ต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิตแต่เพียงลำพัง งานหลากหลายที่เค้าเคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น งานขอทาน, งานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแลกกับอาหาร เค้าทำงานทุกอย่างที่สามารถประทังชีวิตได้ไปวันๆ ไม่มีแม้กระทั่งหลังคาจะคุ้มหัวยามที่ฝนตก ต้องอาศัยนอนตามแผงลอยในตลาดหรือตามมุมตึก
ชายผู้น่าสงสารคนนี้มีชื่อว่า “อัมพร วัฒนวงศ์” เป็นคน จ.บุรีรัมย์ อาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ ที่อบอุ่นพร้อมกับพ่อและแม่ พออายุได้ 4 ขวบ พ่อก็เสียชีวิตลง ยังไม่ทันที่ความเศร้าโศกจะจางหายไป แม่ก็มาจากไปอีกในตอนที่เค้าอายุได้ 5 ขวบ …และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตที่แสนรันทดของเค้า ต้องกลายมาเป็นเด็กเร่ร่อน ใช้ชีวิตอยู่ตามข้างถนน กินอาหารจากคนอื่นที่กินเหลือไว้ …ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยรุ่นก็ยังเป็นเช่นนี้ จนเค้าท้อแท้และสิ้นหวังและคิดฆ่าตัวตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยคุณอัมพรได้เล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่าอะไรที่เป็นสาเหตุของความคิดเช่นนั้น “ชีวิตมันทรมานและเศร้ามากตอนนั้น ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในชะตาชีวิต ครั้งแรกใช้วิธีการแขวนคอ เผอิญมีคนมาเห็นและช่วยไว้ทัน ส่วนครั้งที่สองกินยาฆ่าแมลง ก็ยังมีคนมาช่วยหามส่งโรงพยาบาล ผมไม่รู้สึกตัวหลายคืน ตื่นขึ้นมาก็วิเศษที่สุดที่ชีวิตนี้ มีเตียง หมอน ผ้าห่มพร้อม และมีคนช่วยให้สติ ให้กำลังใจ ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลผมก็ได้ สู้ชีวิต เลิกคิดฆ่าตัวตาย และพยายามผจญภัยในชีวิตตลอดมา…”
เมื่ออายุย่างเข้าวัย 18 ปี ชีวิตก็เริ่มมีความหวังขึ้นมา มีโอกาสได้เรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ด้วยตนเอง โดยที่ตอนนั้นคุณอัมพรบวชเป็นเณร จึงได้อาศัยโอกาสตรงนี้เรียนจนจบ ม.ศ.5 จนกระทั่งอายุ 23 ปี ก็สึกออกมาทำงาน ตอนสึกมีเงินเพียง 10 บาท นิมนต์พระมาสึกให้ 6 รูป ถวายน้ำอัดลมขวดละ 1 บาท หมดไป 6 บาท เหลือเงินไว้เริ่มต้นชีวิตแค่ 4 บาท และเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นเด็กเก็บลูกกอล์ฟ รับจ้างปลูกสวนหย่อม ทำความสะอาดบ้าน เป็นช่างปูน ช่างเครื่อง รับจ้างลอกคลอง และปลูกหญ้าบนเกาะกลางถนน เค้าทำงานทุกอย่าง ไม่เคยเกี่ยงงานหนักงานเบา สู้จนวันหนึ่งก็มีโอกาสได้รู้จักกับบาทหลวงคาทอลิก โบสถ์เซเวียร์ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
“ท่านเห็นผมเป็นคนใฝ่รู้ จึงว่าจ้างผมทำทุกอย่าง ตั้งแต่ไปตามเด็กๆ จากครอบครัวยากจนมาเรียนหนังสือ จัดห้องสมุด เฝ้าบ้าน ดูแลทำความสะอาดบ้าน ล้างส้วม ตัดหญ้า ช่วยเด็กเล็กอาบน้ำก็มี ทำทุกๆ เรื่องแม้กระทั่งบุกจับโสเภณี ระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสหาความรู้จากห้องสมุดและเรียนพูดภาษาอังกฤษ” คุณอัมพรกล่าว
เส้นทางชีวิตของคุณอัมพรเริ่มส่องแสงสว่างขึ้น เมื่อมีโอกาสได้ไปอบรมที่ฟิลิปปินส์ 2 ปี ด้วยทุนของประเทศเยอรมัน ที่มหาวิทยาลัยเซเวียร์ เมืองคาคา ยันเดโอโร ได้ไปเรียนเรื่องการพัฒนาผู้นำการพัฒนาชุมชน และงานพัฒนาชนบทในภาคพื้นเอเชีย จนได้รับประกาศนียบัตรสาขาสังคมศาสตร์และพัฒนาผู้นำชนบท …การไปอบรมในครั้งนี้ได้สร้างพลังใจให้คุณอัมพรมากเลยทีเดียว ทำให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงขึ้น พูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น …หลังจากกลับมาก็เริ่มงานเป็นผู้ดูแลการฝึกงานของนักศึกษาฝึกงานด้านสังคมสงเคราะห์ และก็รับทำบัญชีให้บริษัทขายยาก่อนจะเป็นผู้จัดการร้านค้าหน่วยบริการสวัสดิการกองทัพอากาศสหรัฐ (พีเอ็กซ์) ประจำสนามบินอู่ตะเภา สัตหีบ …ต่อมาก็ย้ายมาเป็นผู้ชำนาญการฝ่ายแรงงานสัมพันธ์สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ประจำหน่วยบริการสวัสดิการทหารสหรัฐ สถานฑูตอเมริกันกรุงเทพฯ ทำอยู่จนสงครามเวียดนามสงบลง …จนกระทั่งปี 2517 ได้เริ่มงานที่ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ. ในประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารด้านการให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวทุกจังหวัดของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 500,000 คน ทำอยู่ประมาณ 10 ปี จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ เป็นคนไทยคนแรกที่นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการนี้
คุณอัมพรเป็นบุคคลหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยความพยายามและต่อสู้ดิ้นรนของตนเอง และทำงานเพื่อสังคมจริงๆ มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น พวกเด็กๆ จะได้เป็นคนดีของสังคมต่อไป …ผลของการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เค้าได้รับการประกาศเกียรติคุณมากมาย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และทางมหาวิทยาลัยแห่งรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาสังคมให้ด้วย… ปัจจุบันถึงแม้ว่าคุณอัมพรจะเกษียณอายุงานไปแล้วตั้งแต่ปี 2540 แต่ก็ยังทำงานเพื่อสังคมอยู่ โดยตั้งเป็น “มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว (ฟอร์เด็ก)” โดยคุณอัมพรดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ภายใต้คำขวัญการดำเนินกิจกรรมคือ “แด่ผู้ทุกข์ยาก…จากใจรัก”
ชีวิตที่เปื้อนฝุ่นของ “ดร.อัมพร วัฒนวงศ์” ในวัยเยาว์ได้ส่งผลให้ชีวิตของเค้าในปัจจุบันไม่ต้องเปื้อนฝุ่นอีกต่อไปแล้ว …ต้องขอบคุณวันนั้นที่มีผู้มีน้ำใจช่วยเหลือคุณอัมพรให้รอดชีวิตจากการคิดฆ่าตัวตาย ทำให้วันนี้มีบุคคลที่ไม่ธรรมดาอย่างคุณอัมพรมาช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ที่น่าสงสารเหล่านั้น…
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 คอลัมน์ วิถีชีวิต เรื่องโดย สุรีย์ ทองปาน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.fordecthai.org