กองทุนภาคประชาสังคม

สุรชัย ตรงงาม : “ทนายคนกล้า...เพื่อสิ่งแวดล้อมไทย”

14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดกลุ่มคนเดือนตุลาเท่านั้น ควันหลงหลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นติดตรึงและสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยต่อเนื่องยาวนานอีกนับสิบปี มากน้อยต่างกรรม ต่างกาลกันไป แต่กลิ่นอายประชาชน การออกค่ายชนบทของนักศึกษาได้กลายเป็นสิ่งที่ช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยยังมีให้พบพาน แม้ความรู้สึกเข้าถึงหรือต้องการอยู่เคียงข้างประชาชนนั้นจะไม่ยั่งยืน

“สุรชัย  ตรงงาม” อดีตลูกโดมรุ่น 2526 สมาชิกกลุ่มนิติธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย  เขาเลือกที่จะทำงานมวลชนตั้งแต่นั้นตลอดมา  ในฐานะนักกิจรรม นักพัฒนาเอกชน และทนายความสิ่งแวดล้อม ทางเดินที่เลือกคือคำตอบของคำถามที่หลายคนก็สงสัยว่า นักศึกษาไปไหนหมดหลังเรียนจบแต่เขาตอบคำถามนั้นให้กับตัวเขาเองแล้ว

หลังจากจบธรรมศาสตร์ ปี 2530 สุรชัยก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำกิจกรรมด้วยกันมาพอจบแล้วหายไปไหนกันหมด ด้วยความที่ไม่อยากหายไปไหน สุรชัยจึงไปร่วมร่วมกับ  NGO ทำงานชุมชนอยู่ จ.เชียงใหม่ สังกัดโครงการวิจัยชุมชนเพื่อการพัฒนา

“ผมเรียนรู้จากชาวบ้านประมาณ 2-3 ปี ผมเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก จิตสำนึกชาวบ้านในบางเรื่อง สมัยนั้นที่ลำพูนมีการบุกรุกที่สาธารณะเยอะมาก ก็มีปัญหากฎหมายเข้ามา เพื่อน ๆ ก็ไม่มีใครเรียนนิติเลย แต่เราเรียนมา ชาวบ้านถามเรา ตอบไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเราช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย ไม่สบายใจ จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องใช้กฎหมายที่เรียนมา จึงกลับมากรุงเทพมาทำทนายความพร้อมกับคุณวสันต์  สินรา ตั้งสำนักงานทนายความและทำงานให้กับมูลนิธิเพื่อนหญิง แล้วจึงมาทำงานที่สำนักงานกฎหมายมีสิทธิ์ จนปัจจุบัน โดยมีแนวคิดในการทำงานคือทำงานทนายร่วมกับทำงานเพื่อสังคมไปด้วยเท่าที่จะทำได้”

 การทำงานเพื่อสังคมของสุรชัย มาจากฐานความคิดทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เดิมคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเด็นใหญ่ๆ แต่เมื่อเรียนจบ ทำงานก็ค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องยากและอาจต้องใช้เวลา แต่การเป็นทนายความก็สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กๆ และสามารถเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับกว้างต่อไปได้ และเมื่อเป็นทนายความแล้วก็มีความคิดว่า “วิชาชีพทนายความ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้ทำ เมื่อมีโอกาสแล้วก็ควรใช้ความรู้ที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของสุรชัย ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ทนายความสิ่งแวดล้อมในคดีแพ่งและอาญา และคดีปกครอง กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับสภาทนายความ ในปี 2542 ตลอดจนทนายความสิ่งแวดล้อมในคดีแพ่งและคดีปกครองกรณีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 ในปี 2544

คดีสำคัญคดีหนึ่งคือ การที่สุรชัย ให้ความช่วยเหลือคดีที่ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ 13 ราย โดยได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ของลำห้วยคลิตี้ที่เป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญ ในปี 2547

ผลคือศาลมีคำตัดสินให้กลุ่มชาวบ้านชนะคดี ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่ชาวบ้านฟ้องร้องแล้วชนะหน่วยงานของรัฐและยังร่วมรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาความบกพร่องของระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

นอกจากนี้สุรชัยยังมีผลงานสำคัญๆ อีก คือ กรณีฟ้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในปี 2550, ช่วยเหลือชาวบ้านผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี ในปี 2553 และเป็นทนายความสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรณีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ออกทับที่สาธารณะประโยชน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปีเดียวกัน

ทุกวันนี้ สุรชัย มีความสุขกับงานที่ทำ ภูมิใจที่ได้ทำ แม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างเป็นเพียงเรื่องเปลี่ยนผ่านเท่านั้น โดยยึดหลักการทำงานที่ต้องมี “ความรัก” เป็นแกนกลาง

“การทำงานทางสังคมต้องมีความรักเป็นเรือนใจ คือมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุกข์บนโลกใบนี้”

ด้วยความรักและความภาคภูมิใจกับกับงานที่ทำ ตลอดจนผลงานที่ปรากฏ ทำให้สุรชัยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเลือกจากประเทศไทยห้าคนให้เข้าเป็นสมาชิกอโชก้าเฟลโลว์ประจำปี 2549 และได้รับรางวัลสาขางานยุติธรรม ของสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556 ซึ่งสุรชัยได้พูดถึงการได้รับรางวัลนี้ว่า

สุดท้าย สุรชัย  ตรงงาม ได้ให้ข้อคิดในการทำงานของทนายความรุ่นใหม่อย่างไร

“การเป็นทนายความนั้นไม่ใช่เพียงอาชีพ แต่เป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง วิชาชีพ คือการทำหน้าที่ทนายความนั้นไม่ใช่เพียงเป็นสัมมาอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม การทำงานช่วยเหลือสังคมด้านกฎหมาย ยังคงรอให้นักวิชาชีพทนายความทั้งหลายได้มีโอกาสนำความรู้ของตนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมของเรา”

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :               สุรชัย  ตรงงาม ทนายสิ่งแวดล้อม  หนึ่งในน้อยคน surachaitong.wordpress.com, สุรชัย ตรงงาม ทนายความสิ่งแวดล้อม www.news-town.com/

                                          ขอขอบคุณภาพประกอบจาก :         http://enlawfoundation.org, www.wasi.or.th

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE