ในโลกแห่งจินตนาการอันบริสุทธิ์ เด็กทุกคนควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสในการเรียนรู้อย่างสมวัยเพื่อเป็นทักษะในการใช้ชีวิต ก่อนจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกลับยังมีเด็กไร้สัญชาติที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ชายขอบของประเทศไทย ซึ่งขาดการเหลียวแลเอาใจใส่จากสังคมเท่าที่ควร จนกรณีดังกล่าวกลายเป็นปัญหาในการพัฒนาสังคมไปสู่ความเท่าเทียม
ทว่า “สันติพงษ์ มูลฟอง” ชายหนุ่มนักสู้แห่งอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มองปัญหานี้อย่างผ่านเลย ด้วยประสบการณ์ที่เคยเห็นเด็กต่างด้าวถูกใช้แรงงานข้ามวันข้ามคืนจากนายจ้างโดยไม่ได้กินไม่ได้นอน เป็นแรงผลักดันให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและความเท่าเทียมของเด็กไร้สัญชาติอย่างจริงจัง
ในช่วงแรกของการทำงาน แม้จะมีปัญหามากมายหลายด้านที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าไปทำงานบนพื้นที่เชิงเขา ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ที่ได้รับอนุญาตนั้นต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งต้องรายงานตัวต่อคณะกรรมการชาวเขาจังหวัดทุก 4 เดือน ตลอดจนปัญหาจากการขาดข้อมูลความรู้ด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการดำเนินงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้มิได้บั่นทอนกำลังใจอันเกิดจากความมุ่งมั่นของสันติพงษ์ ให้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด เขากลับเดินหน้าศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น พระราชบัญญัติสัญชาติ ระเบียบการศึกษา ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการประสานงานกับภาคีผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน เช่น สภาทนายความ นักวิชาการกรรมการสิทธิชุมชน ซึ่งมีส่วนช่วยในการวางแผนปฏิบัติงานของเขาได้เป็นอย่างดี จนสามารถจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน” เพื่อขยายผลในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สันติพงษ์เล่าถึงการทำงานในช่วงนั้นว่า “ราว พ.ศ. 2540 บริเวณพื้นที่บ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านไร้สัญชาติ ซึ่งไม่มีบัตรประจำตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่มานานกว่า 30 ปีแล้ว บางครั้งชาวบ้านแค่ออกจากพื้นที่มาซื้อสิ่งของจำเป็น ไม่ได้มีเจตนาหนีเข้าเมือง แต่ต้องถูกทางการจับกุม เพราะยึดเรื่องความมั่นคงของชาติเพียงด้านเดียว พวกเราจึงได้รวมตัวกันเพื่อหาทางออกของปัญหา โดยเริ่มจากเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาครัฐกับชุมชนในการสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวบ้านกระทำได้ เมื่อมีเครือข่ายที่เข้มแข็งดีแล้ว เราจึงจัดทำทะเบียนประวัติบุคคล เพื่อจัดทำบัตรประจำตัวของผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงได้สำเร็จใน พ.ศ. 2546”
ตลอดเวลา 6 ปี กับการทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องจนสามารถข้ามผ่านปัญหาและอุปสรรคนานัปการได้สำเร็จ ปัจจุบัน สันติพงษ์และ “ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน” ยังคงทำหน้าที่ซึ่งเปรียบเสมือนปราการปกป้องสิทธิของผู้คนในพื้นที่ห่างไกล โดยมีบทบาทในการประสานงาน ให้คำปรึกษาในกรณีละเมิดสิทธิเด็กและสตรี พร้อมพัฒนาศักยภาพของเด็กพลัดถิ่นตามความสนใจของตนเอง ตลอดจนปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนผู้ไร้สัญชาติ เพื่อส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
แม้จะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ ในกระแสสังคม ทว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของสันติพงษ์ กลับก่อเกิดเป็นความดีงาม สร้างชื่อให้กังวานไกล เพื่อประโยชน์สุขของการอยู่ร่วมกันภายใต้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมบนผืนแผ่นดินไทยสืบไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.vcharkarn.com/varticle/40475
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.oknation.net, www.stateless4child.net, www.vcharkarn.com