เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์วิปโยคที่นำมาซึ่งความตายของประชาชนชายแดนใต้ถึง 85 คน เป็นเหตุการณ์ที่ถูกโจทย์จานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย ด้วยเพราะมีถึง 78 คนที่ตายระหว่างถูกขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ด้วยรถยีเอ็มซีและรถบรรทุกในลักษณะที่ถูกบังคับให้นอนซ้อนทับกัน?
“กะแยนะ” หรือ นางแยนะ สะแลแม นอกจากจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เธอยังเป็นหนึ่งในตัวแทนของกลุ่มสตรีสานสัมพันธ์สู่สันติสุข ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่ลูกชาย สามี พ่อ หรือญาติเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบและเหตุรุนแรงอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากกรณีตากใบ และกรณีต่างๆ
ถึงแม้ในกลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ตามปกติทั่วไป แต่สำหรับกะแยนะ สะแลแม เองไม่ได้วางตัวสงบนิ่งอยู่แต่ในหมู่บ้านอย่างคนทั่วไป แต่กลับพลิกบทบาทบทบาทตัวเองจากผู้ได้รับผลกระทบมาเป็นผู้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คนอื่นๆ ด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการช่วยลูกชายตัวเอง จนนำมาสู่การตั้งกลุ่มเพื่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ
คำว่า “ไม่มีกะแยนะ คนก็คงลืมเหตุการณ์ตากใบไปแล้ว” คงจริงอย่างที่นายทหารในพื้นที่ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกะแยนะมาก่อนเคยพูดไว้
กะแยนะเล่าถึงบทบาทตัวเองจากวันนั้นจนถึงวันนี้ว่า เริ่มต้นเป็นแกนนำช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ก่อน เนื่องจากลูกชายของตัวเองตกเป็นจำเลยด้วย ซึ่งตอนนั้นต้องขึ้นลงศาลจังหวัดนราธิวาสตลอด
เมื่อต้องไปศาลหลายครั้ง คนอื่นๆ ที่มีญาติเป็นจำเลยด้วย จึงขออาศัยกะแยนะไปด้วย มีการพึ่งพากัน จากนั้นพวกองค์กรต่างๆ ที่ทำงานช่วยเหลือเยียวยาก็เข้ามาช่วย เริ่มจาก กะยา(นางโซรยา จามจุรี วิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) แล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) ตามด้วยทีมทนายความที่เข้ามาว่าความในคดีนี้
“ตอนนี้มาไม่รู้องค์กรไหนต่อองค์กรไหนแล้ว ที่กะแยนะได้ร่วมงานด้วย องค์กรไหนอยากรู้ข้อมูลอะไรก็โทรศัพท์มาถาม แรกๆ ก็ถามเรื่องเหตุการณ์ตากใบ นานๆไปก็ลามไปถึงเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อะไรที่กะนะตอบได้ก็ตอบ อะไรที่กะนะตอบไม่ได้ก็ไม่ตอบ หรือให้ช่วยประสานงานให้ก็มี”
กิจกรรมที่เข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ ส่วนมากคือการเข้าอบรม ซึ่งทำให้ได้ความรู้มาก มีความเข้าใจในหลายๆ เรื่องมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างกลุ่มคนที่ทำงานเยียว กลุ่มคนได้รับผลกระทบ และกลุ่มอื่นๆ ด้วย
ถึงตอนนี้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่กะแยนะได้ช่วยเหลือมีหลายหลายรูปแบบ ทั้งญาติเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และพวกที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งมีวิธีช่วยเหลือเยียวยาที่แตกต่างกันไป
หลังจากที่ได้ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบกรณีตากใบ ได้ไปร่วมกิจกรรมในที่ต่างๆ ทำให้ได้รับรางวัลมาด้วย เริ่มจากปี 2550 กะนะได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นปี 2552 ได้รับรางวัลพลเมืองคนกล้า ซึ่งมาจากการคัดเลือกของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายจิตอาสา และทีวีไทย ทีวีสาธารณะ และได้รับรางวัลจากรายการคนค้นคน
“ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้อยู่บ้านมากนัก เพราะมีองค์กรต่างๆ เชิญเข้าร่วมงานตลอด ส่วนใหญ่จะไปคนเดียว ยกเว้นถ้าเขาต้องการให้พาคนในกลุ่มไปด้วย แต่คนอื่นไม่ค่อยอยากไป แต่เราไปได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานอะไรแล้ว เป็นการเรียนรู้ไปด้วย ถ้าอยู่บ้าน เราก็ไม่ได้เรียนรู้”
กะแยนะ พูดถึงแนวคิดในการเยียวยาของตัวเองด้วยว่า “กะนะพยายามให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบ เหมือนที่กะนะเองไม่ได้รู้สึก และเราจะไม่แสดงให้เขาเห็นว่า เราคือผู้ได้รับผลกระทบ เราพยายามพูดให้เขาเข้าใจว่า เมื่อถึงเวลาความสูญเสียมันก็ต้องเกิดขึ้น”
“เมื่อได้พูดไปอย่างนั้นแล้ว ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เราพยายามให้คิดถึงพระเจ้าอย่างเดียว ให้เชื่อว่า พระเจ้ามีองค์เดียว พระเจ้าทำให้ตายเมื่อถึงเวลา อยากให้เขาคิดอย่างนั้นอย่างเดียว เมื่อเขาคิดอย่างนั้นได้ ความเครียดก็ทุเลาลง”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : แยนะ สะแลแม “อย่าให้รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบ” โดย มูฮำหมัด ดือราแม www.gotoknow.org/posts/431082
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.gotoknow.org, www.khaosod.co.th