ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว...ในความไม่พร้อมมีแสงสว่างรออยู่เสมอ มีนา ดวงราศี เลขาธิการสมาคมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หนึ่งในผู้หญิงที่ลุกขึ้นสร้างพลังให้ตนเองและคนรอบตัว ได้นั่งลงเล่าย้อนเกี่ยวกับเรื่องราวกว่าจะมาเป็นสมาคมแม่เลี้ยงเดี่ยว ว่า มันไม่ง่ายเลย ชีวิตผู้หญิงซึ่งวันหนึ่งเสาหลักคนหนึ่งไม่อยู่ แล้วเธอก็ต้องทำงานหนักขึ้นแต่มีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง แต่วันนั้นเธอสู้จนลุกขึ้นได้แล้วหันมาจับมือ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” รายรอบตัวให้ลุกขึ้นตามมา จากหนึ่งเป็นสองเป็นสามคน จนวันนี้เติบโตเป็นสมาคมแม่เลี้ยงเดี่ยว
“คิดว่าราวๆ ปี 52-53 นะที่เราได้ทำงานเรื่องครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ตอนนั้นเราทำงานแถวชายแดนไทย-เขมร เพราะว่าตอนนั้นมีสถานการณ์สู้รบทำให้ผู้ชายตายหรือพิการ ทำให้ต้องอพยพครอบครัวออกไปทำงานรับจ้างในเมือง หลายคนไม่ได้มีครอบครัวใหม่ เราเลยจับเรื่องนี้และลงไปทำงานในพื้นที่ จุดเริ่มต้นจริงๆ นั่นเพราะเราไม่ได้มองเขาเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้มองว่าเตกต่าง น่าสงสาร แต่มองว่า ในความเป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น ชีวิตเขามีอุปสรรคอะไร หรืออะไรทำให้เขาไม่มีความสุข เพราะอย่างที่เจอคือวัฒนธรรมทางเพศ ในสังคมไทยบ้านเรามันเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับกัน เขามักจะมองว่า ไม่อดทน ที่เลิกรากัน หรือเป็นผู้หญิงไม่ดีที่ผู้ชายไม่เอา อยู่กันก็ลำบาก ทำงานก็ลำบาก บางคนเป็นผู้นำด้วยเวลาไปนั่งใกล้ใครหรือร่วมสังคมกับผู้ชายก็ต้องระวัง เขาจะมองว่า “เดี๋ยวผู้หญิงคนนี้ จับเอาไปเป็นผัว” นี่คือปัญหาทางวัฒนธรรม ในแง่ปัญหาทางเศรษฐกิจก็หนักเช่นกัน เพราะต้องทำมาหากินคนเดียว เลี้ยงคนทั้งบ้าน มันเป็นภาระที่หนักมาก มันทำให้เวลาที่ต้องอยู่กับลูกๆ น้อยลง ถ้ามีคู่ชีวิตเราสลับกันได้ แต่นี่อยู่คนเดียวก็ยิ่งมีช่องห่าง ต่อให้อยู่กับยายก็ยังมีช่องห่าง มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกันกับลูกโดยเฉพาะลูกชายจะสื่อสารยากเพราะว่าเขาไม่มีพ่อ เขาไม่มีต้นแบบ นี่ก็ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งนะคะ” มีนากล่าว ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวลึกๆ ในชีวิตครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หลายคนอาจจะต้องเจอะเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสังคมรอบตัวลูกๆ “เด็กๆ ถูกล้อว่าไม่มีพ่อ ทั้งที่จริงๆ เด็กจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นเด็กที่ไม่มีปัญหาเลย ต่อมาปี 54 ก็เลยย้ายมาทำงานในเมือง มาสำรวจสถานการณ์ในเมืองปรากฏว่ามันเยอะมาก แล้วก็มองว่า มันมีระดับความเดี่ยวแบบไฟเขียว ไฟแดง ไฟเหลือง ไฟแดงก็จะเป็นแบบว่า กำลังทุกข์หนัก ทำใจไม่ได้เลย แล้วก็ไปด่าลูกด่าสามี ไปโกรธกันสารพัด จัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ทำใจไม่ได้ทำร้ายตัวเอง หรือเริ่มกินยา อะไรแบบนี้ คือ เขาทำใจไม่ได้เลยแต่ถ้าไฟเหลืองนี่เริ่มทำใจได้บ้างแล้ว ส่วนไฟเขียวนี่ไปโลดเลย แบบว่า “กูไม่สน” คือชีวิตตรงจุดนี้ เขาไม่เป็นไรอยู่ได้ ใช้ชีวิตมีความสุข มีอิสระ
ทีนี้เรามามองว่า คนที่อยู่ได้จะทำอย่างไรที่จะช่วยคนอื่นๆ ต่อไปได้ เราคิดว่า เราอยากให้คนที่เข้มแข็งแล้วมาช่วยคนที่ยังอ่อนแออยู่เพราะมิติการทำงานกับครอบครัวก็คิดว่าเราน่าจะทำงานกับครอบครัวอื่นๆ ได้ด้วย” มีนาเริ่มอธิบายให้เห็นภาพและเพิ่มเติมอีกว่า “กิจกรรมแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นกิจกรรมพิเศษ เรานัดให้แม่ๆ มาพบกันมาคุยกัน เอาปัญหาต่างๆ มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันซึ่งก็พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็เลยมาคุยกันว่าเราน่าจะทำกลุ่มสร้างอาชีพเสริมรายได้ เลยเป็นที่มา “กาแฟเลี้ยงเดี่ยวแก้วเดียวไม่พอ” ซึ่งเราก็มีทุนตั้งต้นเรามาช่วยกันขายแล้วก็มีค่าแรงให้ คนที่ยากลำบากก็เข้ามาขายก็สลับกันมีรายได้ช่วยเหลือกัน
หลังจากทำงานมาได้สักระยะหนึ่งก็พบว่ากลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวของเรามีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นคือมีกำลังใจ มีทัศนคติที่ดีกับชีวิตตัวเอง อย่างทำกิจกรรมค่ายครอบครัวก็ทำให้แม่รู้สึกดีว่าตัวเองเป็นแม่เป็นคนสำคัญมากกับลูกๆ จนตอนนี้จำนวน สมาชิกของเราก็ประมาณ 250 ครอบครัวไปแล้ว นี่ในเขตพื้นที่ตัวเมืองสุรินทร์” มีนากล่าว ก่อนจะทิ้งถ้อยคำสั้นๆ ถึงก้าวย่างต่อไปของชีวิตลูกผู้หญิงที่เป็นทุกอย่างในครอบครัว
“กับกิจกรรมกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวถ้ายังจะให้มองเรื่องความสำเร็จไม่สำเร็จ เรื่องอุปสรรคก็ยังต้องพยายามกันต่อ แต่ที่สำคัญก็น่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา ตอนนี้ที่ทำได้ก็จะมีบางกลุ่มที่เข้าไปเป็นสมาชิกสหกรณ์ คือเราทำสหกรณ์เครดิตยูเนียนด้วย ก็พอมีรายได้บ้าง เราเข้าเป็นสมาชิก เอาเงินไปฝากหรือ ไปกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็พอช่วยให้หายใจได้มีเงินหมุนในยามลำบากกัน
ส่วนอุปสรรคคนทำงาน คิดว่าแนวคิดคนทำงานนั้นสำคัญที่สุด ตอนแรกที่เข้ามาก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าเรามองแม่เลี้ยงเดี่ยวยังไง ถ้าเข้ามาเพื่อมองว่าเราต้องสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์นะ ถ้าเขาจะต้องแต่งงานใหม่ เขาต้องอดทน เขาจะได้ไม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอีกคือ อยากให้เขาเข้าใจก่อนว่า รูปแบบครอบครัวนั้นมีหลากหลาย ครอบครัวที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่มีแต่พ่อแม่ลูกแต่เป็นครอบครัวที่เข้าใจกันก็ได้ อาจจะเป็นแม่กับลูก หรือพ่อกับลูก หรือผู้หญิงผู้ชายที่ไม่มีลูกหรือ หญิงกับหญิง ชายกับชายก็ได้ คนที่ตัดสินใจเลือกชีวิตทางเพศ เช่น ผู้หญิงกับผู้หญิงก็ไม่เป็นไรขอแค่เขาเข้าใจกัน ดังนั้น แนวคิดเรื่องครอบครัวเราตกผลึกเราวางเราชัดก็เริ่มทำงานได้
สุดท้ายที่อยากจะฝากก็คือ ปัญหาการหย่าร้างนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากในวันนี้แต่กับการทำงานตรงนี้กลับแปลก เพราะการสนับสนุนจากรัฐมีน้อยมากขนาดไปจดทะเบียนขอก่อตั้งสมาคมเขาก็ไม่เห็นด้วย หาว่าเรามาทำให้เกิดการสนับสนุนซึ่งเราเองก็มองว่าเราไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าความเป็นครอบครัวจะต้องมีแต่ผู้ชายผู้หญิงความคิดแบบนี้เลิกได้ไหม และเราไม่ได้ยุให้คนเลิกกันมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เราสนับสนุนด้วยซ้ำถ้าใครรักกัน แต่ถ้าไม่ใช่อย่าตีตราเขาได้ไหม ให้เขาเลือก ให้เขาเข้าใจตัวเองดีกว่า ให้เขากำหนดว่าจะเข้าหรือออก และเราเองก็ยินดีต้อนรับเสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : www.thaingo.org