ณ วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “พระไพศาล วิสาโล” พระภิกษุแห่งสันติวิธี ผู้มุ่งมั่นเผยแผ่ธรรมะแก่พุทธศาสนิกชนผ่านสื่อหลายรูปแบบ ไปพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือผู้คนมากมาย รวมทั้งการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ท่านมองว่า พระสงฆ์ไม่ควรละเลยหน้าที่นี้ เพราะป่าเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนาตามพระพุทธประวัติ ด้วยภาระหน้าที่นี้ ทำให้คนรู้จักพระไพศาล วิสาโล อีกนามหนึ่งว่า "พระเอ็นจีโอ"
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสแห่งวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ หนึ่งในพระภิกษุสงฆ์ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในทางธรรม ซึ่งท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่เผยแผ่ศาสนาผ่านสื่อหลายรูปแบบ ไปพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือผู้คน และที่สำคัญพระไพศาล คือภิกษุผู้เป็นนักเขียนที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในแนวคิดสันติวิธี
ด.ช.ไพศาล วงศ์วรวิสุทธิ์ หรือ อั้งยี่ ชื่อที่คนในครอบครัวเรียกกัน เติบโตมาในครอบครัวระดับกลาง มีพี่น้อง 5 คน ซึ่ง ด.ช.ไพศาล เป็นคนที่ 4 บิดาของเขาเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ทว่ากลับเลือกที่จะทำธุรกิจเป็นเจ้าของสถานบันเทิง จนทำให้มีภรรยาน้อย และติดการพนันด้วย ด.ช.ไพศาล จึงเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งของครอบครัว และสถานะการเงินที่ไม่ค่อยดีนัก
ด.ช.ไพศาล เรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก โดยมีบุคลิกเป็นนักเรียนที่เรียนดี ตั้งใจเรียน และไม่เคยเกเร ยิ่งตอนเรียนอยู่ชั้น ม.2 เขาลองตรึกตรองดูแล้วพบว่า การเรียนไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเรียนเพื่อให้ได้คะแนนเท่านั้น แต่มันคือการเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ต่างหาก ด.ช.ไพศาล จึงตั้งอกตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และทำคะแนนดียิ่งขึ้น ท่ามกลางความหวังของครอบครัวในยุคนั้นว่า เขาจะต้องเป็นหมอ หรือวิศวกร จากนั้นเป็นต้นมาด.ช.ไพศาล ก็เริ่มแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองจากห้องสมุด อ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่ม เรียกได้ว่าอยากรู้เรื่องอะไร ก็อ่านเรื่องนั้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชอบมาก และตั้งใจว่าเขาจะเป็นวิศวกรให้ได้
แต่แล้วชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อได้อ่าน หนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับภัยเหลืองต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ที่เขาอ่านแล้วรู้สึกว่าประเทศไทยถูกเอาเปรียบจากญี่ปุ่น จึงทำให้เขาสนใจในด้านการเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังชอบช่วยเหลือชุมชน เขาจึงเข้าร่วมชมรมอาสาพัฒนาของอัสสัมชัญ จนกลายเป็นเด็กกิจกรรมที่มักโดดเรียนเพื่อไปทำกิจกรรมอยู่เสมอประจวบกับขณะนั้นกระแสการเมืองช่วง 14 ตุลา แรงมาก นักศึกษาส่วนใหญ่ก่อตัวกับแนวคิดทางการเมือง ความคิดที่จะเป็นวิศวกรของเขาจึงถูกโยนทิ้งไป และเบนเข็มมามุ่งหมายจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน โดยเขาตัดสินใจย้ายแผนการเรียน จาก มศ.4 สายวิทย์ ไปเป็น มศ.5 สายศิลป์ ตั้งแต่นั้นมา
ความมุ่งมั่นที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ที่มีอุดมการณ์ทางด้านการเมืองแรงกล้า ทำให้นายไพศาล ในขณะนั้นเข้าเป็นนักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดังหวัง เพราะในช่วงเวลานั้น เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ๆ แบบที่นายไพศาลสนใจ เขาจึงเลือกเรียนเอกประวัติศาสตร์ ในระหว่างกำลังศึกษาอยู่ เขาทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการตัดสินใจเลือกข้างว่าเขาจะเป็น "ฝ่ายซ้าย" เช่นเดียวกับเหล่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่นั่น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นายไพศาลในเวลานั้น ไม่ได้เป็นซ้ายจัดเหมือนกับคนอื่น ๆ เขาเป็นเพียงฝ่ายซ้ายแบบอหิงสา หรือวิธีการสันติวิธี โดยร่วมก๊วนกันกับกลุ่มเพื่อนรวมตัวกันที่ชมรมพุทธศาสตร์ และเป็นกองบรรณาธิการ วารสารปาจารยสาร ที่ให้ความสำคัญกับการใช้สันติวิธี อหิงสา มากกว่าการปฏิรูปการศึกษา
เมื่อถึงปี 2523 นายไพศาล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และความรุนแรงทางการเมืองก็เบาบางลง กลุ่มประสานงานศาสนาของเขา จึงหันมาช่วยเหลือเด็กยากไร้ที่ขาดแคลนอาหารในชนบท และเดินทางไปยังบ้านท่ามะไฟหวาน จ.ชัยภูมิ และที่นี่เองที่ทำให้เขาพบกับ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ที่ให้การช่วยเหลือและสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ที่ขาดแคลนโอกาส ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขา ในอีก 4 ปีต่อมา
พระไพศาล สู่เส้นทางธรรมะ...ความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะทำให้เขาสุขใจที่ได้ทำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป นายไพศาลกลับมีเรื่องมากมายให้ต้องคิดฟุ้งซ่าน เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ค่อยได้ เขาคิดวนเวียนอยู่กับทุกเรื่อง และมันถูกเปลี่ยนแปลงเป็นความหงุดหงิด กระสับกระส่าย ทำอะไรก็ไม่มีความสุข ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขามองเห็นทางที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ใจทั้งหลายทั้งปวง นั่นคือ การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ด้วยความตั้งใจว่าอยากจะบวชสัก 3 เดือน เพื่อปรับปรุงจิตใจ แต่เมื่อเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ไปบวชกับพระภิกษุสายกรรมฐานรูปหนึ่ง ที่ จ.ชัยภูมิ ชื่อหลวงพ่อคำเขียน เวลานั้นเองที่เรื่องราวในอดีตย้อนกลับมา เขาเคยรู้จักกับหลวงพ่อรูปนี้ เมื่อ 4 ปีก่อน ท่านมีความเมตตาและไม่เอาแต่ได้ เขาจึงตัดสินใจบวชกับท่านในที่สุด
หลังจากนั้น พระไพศาล เลือกที่จะเดินทางมาจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ในขณะนั้นวัดป่าสุคะโต เป็นวัดที่แร้นแค้นมาก มีพระจำพรรษาอยู่เพียง 9 รูป และถูกบูรณะเป็นวัดอย่างแท้จริง ในปี พ.ศ.2512 ท่ามกลางผืนป่าที่ถูกทำลายด้วยเงื้อมมือนายทุน แม้จะมีการขอบิณฑบาตจากพระภิกษุในวัด แต่ก็ไม่สามารถห้ามปรามได้
พระไพศาลจึงเดินหน้าดูแลเรื่องการรักษาผืนป่า ที่ใคร ๆ เฝ้าแต่จะหาประโยชน์ และร่วมมือกับคณะสงฆ์วัดป่ามหาวัน ปกป้องดูแลอนุรักษ์ป่าภูหลง กุฏิหลังน้อยของท่านตั้งอยู่กลางป่า คือสิ่งที่บ่งบอกให้ท่านรู้ว่า หน้าที่อนุรักษ์ป่าเป็นงานที่พระสงฆ์ไม่อาจละเลยได้ เนื่องจากป่าไม่ใช่เพียงต้นกำเนิดของแหล่งน้ำเท่านั้น แต่ป่ายังเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาด้วย ในพุทธประวัติที่ผ่านมา ต้นไม้ก็เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ ท่านจึงกลายเป็นพระเอ็นจีโอในสายตาใคร ๆ นับแต่นั้นมา
แม้จะต้องอุทิศแรงกายไปกับการรักษาผืนป่า และเทศนาให้กับชาวบ้าน แต่พระไพศาลก็ยังคงไม่ละทิ้งแนวคิดแห่งความเป็นสันติวิธี ท่านเข้าร่วมอบรมแนวคิดสันติวิธีให้กับชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง ด้วยหวังต้องการให้พวกเขาเหล่านั้น รู้จักกับการต่อสู้ในแบบสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : กระปุกดอทคอม, นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 5 ฉบับที่ 11 ประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2553