ทนายที่ไม่ใช่แค่ชุดครุย หรือการขึ้นว่าความฉะฉาน แต่ผู้หญิงคนนี้ ทำให้เรารู้ว่าเนื้องานและจิตใจ ต่างหาก ที่ทำให้คนรอบข้างนับถือเธออย่างหมดใจ
แม้คดีประวัติศาสตร์ “แม่อายสะอื้น” จะปิดฉากด้วยรอยยิ้มของชาวแม่อาย 1,243 คน เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรมการปกครองคืนสัญชาติไทยให้กับพวกเขา เมื่อ 30 สิงหาคม 2548 แต่เมล็ดพันธุ์จากประสบการณ์อันเป็นผลพวงแห่งการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นคนไทยที่สั่งสมนานกว่า 3 ปี ของชาวบ้านซึ่งถูกปล้นสัญชาติ ได้ผลิเป็นดอกผล จนปรากฏเป็น “แม่อายโมเดล” องค์ความรู้ทางด้านการปกป้องสิทธิในสัญชาติไทย พร้อมที่จะเป็นต้นแบบของต่อสู้ของคนชายขอบ ซึ่งประสบปัญหาเดียวกันในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
บุญ พงษ์มา เป็นหนึ่งในชาวแม่อาย 1,243 คน ที่ถูกถอดชื่อออกจากทะเบียนราษฎร หรือ ท.ร.14 ในปี 2545 ตามคำสั่งของกรมการปกครอง
นับแต่เล็กจนโตเขาถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าหรือบัตรสีชมพู ทั้งๆ ที่เกิดในประเทศไทย และมีสิทธิเต็มขั้นที่จะถือสัญชาติไทย กระนั้นก็ตามด้วยความรู้แค่ ป.5 ทำให้เขาไม่ใส่ใจกับสถานะของตัวเองมากนัก
ปี 2542 ผ่องศรี อินหลู่ น้องสาวของบุญ เรียนจบปริญญาตรี แต่กลัวว่าจะไม่ได้เป็นครู ตชด. ตามที่ฝันไว้จึงเดินขึ้นอำเภอเพื่อขอสัญชาติไทย หวังใช้ในการสมัครสอบเข้ารับราชการ เมื่อนำบัตรประชาชนของทวดฝ่ายแม่เป็นหลักฐานเข้าพิสูจน์ร่วมกับคำรับรองของญาติที่มีสัญชาติไทย ทำให้นายอำเภอแม่อายไม่อาจปฏิเสธและยอมให้สัญชาติไทยด้วยการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนราษฎร์ในปีเดียวกัน
หลังน้องสาวได้สัญชาติไทยจนสมัครเป็นครู ตชด. สมใจ บุญในวัย 34 ปี และคนอื่นๆ ในครอบครัว พลอยรับอานิสงส์จากการพิสูจน์สัญชาติครั้งนี้ โดยทุกคนถูกนำชื่อเข้า ท.ร.14 เป็นราษฎรไทยเต็มขั้นเช่นเดียวกับน้องสาว มีสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นคนไทยทุกประการ นับจากวันนั้น บุญซึ่งยึดอาชีพเกษตรกรปลูกกระเทียม จึงมีโอกาสได้สอบใบขับขี่ ใช้เป็นไปเบิกทางเพิ่มรายได้ในอาชีพจากการค้าขายกระเทียมกับพ่อค้าต่างจังหวัดสร้างรายได้ปีละกว่าแสนบาท ส่วนพ่อแม่ก็ได้บัตรทองใช้รักษาพยาบาล
ทว่า เวลาแห่งความสุขมักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเรื่องราวของบุญ 5 กุมภาพันธ์ 2545 กรมการปกครองมีคำสั่งถอนชื่อของบุญรวมทั้งชาวแม่อายรวม 1,243 คน ใน 15 หมู่บ้าน ออกจากทะเบียนราษฎร
บุญและครอบครัวในสถานะคนไทยตกหล่น ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดคิด เรื่องเล็กน้อยอย่างใบขับขี่ กลับเป็นเรื่องใหญ่ในวิถีชีวิตของบุญ ใบขับขี่ที่กลายเป็นเพียงเศษกระดาษไร้ค่า ทำให้บุญหมดสิทธิขับรถไปต่างจังหวัดเพื่อค้ากระเทียมจนต้องสูญรายได้ปีละกว่าแสนบาท ทั้งยังเสียสิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย ที่เจ็บช้ำที่สุดคือ แม่ต้องตรอมใจตายทันทีที่ทราบข่าวว่าลูกสาวต้องถูกปลดประจำการ (ครู ตชด.) อันเป็นผลโดยตรงจากการถูกถอดสัญชาติ
ส่วนครอบครัวอื่นๆ ต้องเสียสิทธิการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หมดหวังนำเงินไปใช้หมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ใครที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส.อยู่แล้วก็ถูกบังคับให้นำเงินไปใช้ก่อนกำหนดพร้อมปรับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นจากการถูกลดเกรดลูกหนี้ทันทีที่ถูกถอดสัญชาติ หลายคนจำต้องกู้เงินนอกระบบไปคืนเพราะกลัวถูกฟ้อง จนครอบครัวรากหญ้าอย่างพวกเขาต้องล้มละลายโดยไม่ต้องพึ่งคำพิพากษาศาล
เมื่อไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ บุญตัดสินใจต่อสู้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากการหาความรู้ทางกฎหมาย บุญได้รับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติสัญชาติมาอย่างละหนึ่งเล่ม จากนั้นจึงเริ่มอ่านหนังสือกฎหมายอย่างจริงจัง แม้ภาษาในตัวบทกฎหมายอาจเข้าใจยาก แต่บุญไม่เคยละทิ้งความพยายาม อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเริ่มเข้าใจถึงปัญหาของตัวเองและพี่น้องชาวแม่อาย หลายครั้งที่บุญไปปรากฏตัวในเวทีการอบรมสัมมนาทางกฎหมายตามแต่โอกาสจะอำนวย โดยเฉพาะเวทีที่เกี่ยวกับสถานะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่าต้องสู้ แต่ไม่มีความรู้ เคยถือหนังสือรับรองจบ ป.5 จากโรงเรียนบ้านท่าตอน เดินเข้ามหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อขอความช่วยเหลือจากอาจารย์พันทิพย์ อาจารย์บอกให้กลับไปรื้อบ้านให้ทั่ว หาเอกสารที่มีอยู่มาเพิ่มเติม เราก็กลับบ้าน หาไปร้องไห้ไป เรารู้แล้วว่าความอ่อนด้อยทางการศึกษาทำให้เราคิดไม่ทัน นับแต่วันนั้น จึงสัญญากับตัวเองว่าจะหาความรู้ให้กับตัวเองให้มากที่สุด”
การต่อสู้เรียกร้องระหว่างถูกปล้นสัญชาติ บุญยึดหลักสันติวิธี ควบคู่ไปกับการแสวงหากัลยาณมิตร โดยเดินเท้าเข้าหาองค์กรต่างๆ เพื่อขอคำปรึกษา ทั้งสภาทนายความ มูลนิธิชุมชนภูเขา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยพาชาวบ้านเข้าไปเรียนรู้จนเข้าสู่กระบวนการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2546 กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคืนสัญชาติชาวแม่อายทั้งหมด 1,243 คน เข้า ท.ร.14 ปิดฉาก “แม่อายสะอื้น” คดีประวัติศาสตร์ของเมืองไทย
ความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะและสัญชาติของบุญนั้น เกิดจากประสบการณ์ตรง โดยเฉพาะช่วงหลังจากศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเพิ่มชื่อชาวแม่อายเหล่านี้เข้า ท.ร.14 ในปี 2548 โรงเก็บกระเทียมซึ่งเป็นกระท่อมไม้ขนาดย่อมในบ้านบุญจึงแปรสภาพเป็น “คลินิกกฎหมาย" อย่างเรียบง่าย โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ คอยให้การสนับสนุน
คลินิกกฎหมายแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ร้องเรียน ให้ข้อมูล เก็บรวบรวมเอกสารสำคัญ รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับชาวบ้าน ก่อนที่คณะนิติศาสตร์ ม.พายัพ จะมองเห็นถึงปัญหาและช่วยเหลือขอทุนจากยูนิเซฟอีกจำนวนหนึ่ง กระทั่งปัจจุบันออฟฟิศของทนายชาวบ้านขยับย้ายออกมาเป็นห้องเช่าตึกแถวชั้นเดียวใจกลางหมู่บ้านท่าตอน และยังมีสองแกนนำชาวบ้าน ใสแดง แก้วธรรม และ สุ ดวงใจ ผู้ร่วมชะตากรรม คอยช่วยเหลือ
วันนี้ ออฟฟิศของบุญยังตั้งตัวเป็นโรงเรียน ปลูกฝังกฎหมายตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ต้องไปแก้กันที่ปลายเหตุ
คลินิกกฎหมายชาวบ้านแห่งนี้ กำลังเดินหน้า “โครงการต่อยอดองค์ความรู้แม่อาย” ภายใต้การสนับสนุนของยูนิเซฟ โดยเปิดห้องเรียนดึงเด็กที่พออ่านออกเขียนได้เข้าห้องเรียน 5 ห้อง ให้เยาวชนได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาในเรื่องสถานะ โดยใช้สถานที่ตามวัดต่างๆ ตามแต่ความสะดวก โดยมีเยาวชนผ่านห้องเรียนทั้ง 5 ห้องไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 100 คน
ปัญหาแต่ละเรื่องของชาวบ้าน บุญใช้เป็น “ตุ๊กตา” หรือ อุทาหรณ์ทางกฎหมายเข้าแก้ไข ทีละข้อ ทีละประเด็น อย่างรอบคอบ จนสั่งสมประสบการณ์นอกห้องเรียนมากว่า 3 ปี แต่ หัวหน้าหมอความแห่งคลินิกกฎหมายชาวบ้าน ยังคงถ่อมตัวว่า ในวัยเด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือมากนัก แม้วันนี้จะพอมีความรู้กฎหมายอยู่บ้าง แต่เรื่องราวที่ชาวบ้านเข้าขอคำปรึกษาเริ่มขยายเป็นหลายกรณีมากขึ้น หลายเรื่องเกี่ยวโยงไปถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา รวมถึง พระราชบัญญัติต่างๆ ทำให้ทนายชาวบ้านคนนี้ ตั้งใจแน่วแน่ในการเรียนหนังสือต่อเติมความรู้จาก ป.6 ถึง ม.6 และคว้าปริญญาตรีทางกฎหมาย โดยหวังว่าจะนำความรู้มาช่วยเหลือชาวบ้านให้มากที่สุด
“อยากให้ทุกคนเห็นว่าคนที่อยู่ห่างไกลติดชายแดน ก็มีสิทธิในทางกฎหมายและต้องได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดียวกับคนในเมืองทุกประการ คำว่าพลเมืองชั้นสองจะต้องหมดไปจากประเทศไทย”
วันนี้แม้จะทำได้เพียงให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ไม่ถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มตัวด้วยการว่าความ แต่ก็ถือก็เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตหญิงนักสู้แห่งบ้านท่าตอนอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : http://tankhun.komchadluek.net, www.l3nr.org, www.bangkokbiznews.com