กองทุนภาคประชาสังคม

เกื้อ แก้วเกตุ ผู้บุกเบิกกิจกรรมค่ายเยาวชนในเมืองไทย

กว่า 50 ปีแล้วที่ อ.เกื้อ แก้วเกตุ หรือที่เด็กๆ เรียกว่า “ปู่เกื้อ” ผู้บุกเบิกกิจกรรมค่ายเยาวชนในเมืองไทย กับการทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มากมาย จนก่อตั้งองค์กรพัฒนาเยาวชน และเป็นกรรมการด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน มาแล้วมากมายหลายคณะ และหลายองค์กร

อ.เกื้อได้เล่าถึงที่มาของการได้เข้ามาทำงานในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ว่า

“ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบจากวิทยาลัยพละศึกษามาใหม่ๆ ได้มีโอกาสทำค่ายอบรมเยาวชน ช่วงแรกๆก็เป็นลูกมือช่วยเขาไป ต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำค่าย เป็นหัวหน้า เป็นอยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ เด็กที่มาเข้าค่ายก็มีทั้งเด็กที่มาจากครอบครัวทั่วไป เด็กที่มาจากมูลนิธิ สมาคมต่างๆ ร่วมกันประมาณรุ่นละ 80-100 คน รุ่นหนึ่งใช้เวลาในการอบรมประมาณ 3-4 วัน ช่วงที่เป็นหัวหน้าค่ายนี้แหละ สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถทำได้จริง จึงตัดสินใจไปทำงานกับสมาคม YMCA ดูแลเรื่องกิจกรรมและกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งในช่วงนั้นคนทำงานด้านนี้ยังมีไม่มาก ก็ทำมาเรื่อยๆ ต่อมาจึงมีแนวคิด และขยายการทำงานร่วมกับชุมชน เริ่มฝึกเด็กให้เป็นผู้นำชุมชน ร่วมกันแก้ปัญหาชุมชน ช่วยให้พวกเขาทำกิจกรรมในชุมชนนั้นๆ ได้ ก็ทำมาตั้งแต่ปี 2508 จนปีนี้ 2557 แล้ว”

ระยะเวลาการทำงานมาเกือบครึ่งชีวิต อ.เกื้อ พบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้าน ทุน และ คน ซึ่ง อ.เกื้อเล่าให้ฟังว่า

“การที่เรามีเครือข่ายทั่วโลกก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีทรัพยากรอย่างเหลือเฟือ แต่ที่ทุกวันนี้ยังทำงานกันได้อยู่ เพราะจิตใจ ส่วนทรัพยากรก็ค่อยๆหากันไป เวลาจะมีกิจกรรมแต่ละที เราก็ต้องรณรงค์หาทุน เช่น การเดินการกุศล หรือเราจัดทำข้อเสนอโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าสนใจสนับสนุนไหม นอกจากนี้คนที่ทำงานด้านนี้ต้องมีความมุ่งมั่น  มีการหล่อหลอมให้สนใจทำงานด้านนี้ อย่างผม ก็เข้ามาคลุกคลีตีโมงจนค่อยๆซึมซับ  ตลอดมาก็ได้พยายามหาทางออกของปัญหา โดยพยายามทำกิจกรรมที่คนในสังคมส่วนใหญ่สนใจ สำรวจดูว่าสังคมไทยมีปัญหาอะไร แล้วเราก็คิดว่าเราจะเอาอะไรไปสื่อสารกับคนหรือหน่วยงานที่สนใจและสนับสนุนเราได้ ทั้งที่มาช่วยโดยตรงหรือการบริจาค ต้องหาทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทำให้คนทำงานมีแรงที่มาช่วยกันทำงาน มาฝึกอบรม และให้เขามาต่อยอดการทำงานของเราได้ ขยายการทำงานไปสู่การทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร และมีเครือข่ายการทำงานด้านเด็กเพื่อร่วมกันผลักดันกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เป็นต้น”

อ.เกื้อ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ประทับใจทุกครั้งที่ได้ทำงาน งานทุกชิ้นคือความประทับใจ แต่มีงานอยู่ชิ้นหนึ่งที่นอกจะประทับใจแล้ว ยังเป็นการทำงานที่ทำให้รู้สึกว่าการทำงานนั้นมีพลัง ด้วยความพยามทำให้มีกลไกระดับประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งสำเร็จ มีการตรา พ.ร.บ. ส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2521 เกิดขึ้น

“การทำงาน การประชุมที่มีองค์กรต่างๆเข้ามาร่วม ภายใต้หน่วยงานกลางที่เป็นแกนในการประสานงาน และได้มีกฎหมายส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติเกิดขึ้น เป็นแผนแม่บทการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดสภาเด็กและเยาวชน กองทุนเด็ก เพราะฉะนั้นกลไกในระดับประเทศมีความสำคัญและได้มีโอกาสร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งถือว่าเมืองเรามีพร้อมแล้ว เพียงแต่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หน่วยงานรัฐควรมีบทบาทเข้ามาสนับสนุนกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น รัฐก็ทำงานน้อยลง เพราะฉะนั้นถ้าตัวเลขขององค์กรที่ทำงานด้านสังคมเพิ่มมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนก็มากขึ้น”

การทำงานที่ผ่านมาของ อ.เกื้อ สำเร็จลุล่วงได้ก็โดยอาศัยการยึดถือตนเองเป็นหลัก แล้วนำเอาแนวทางของใครก็ตามที่มีประโยชน์ นำมาปรับใช้ให้เข้ากัน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับงาน

“คนทำงานด้านนี้มีอยู่เยอะ เราก็เลือกใช้ประสบการณ์ทำงานที่มีอยู่ พยายามเปิดใจรับฟัง และให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ที่จะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้”

กับคำถามสุดท้าย “กองทุนพัฒนาสังคม จะช่วยในงานพัฒนาสังคมอย่างไร” อ.เกื้อให้ข้อคิดเห็นว่า ตามหลักคิดการบริหารจัดการกองทุนต้องเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงอยากให้มีการบริหารจัดการการใช้เงินในการพัฒนาสังคมอย่างชาญฉลาด โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

 “การก่อตั้งกองทุนภาคประชาสังคม ต้องมีการสื่อสารรณรงค์ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศรู้ว่าเป็นเงินของเราเอง โดยจะนำเงินเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น ตามแผนพัฒนาชาติ”

 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก :     www.oknation.net

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE