ภายหลังจากการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการของการเคหะแห่งชาติหลังปี พ.ศ. 2516 ว่าในกรุงเทพฯ มีชาวสลัมอาศัยอยู่ จำนวน 3-4 แสนคน ก่อให้เกิดกระแสการไล่รื้อที่ แต่กระแสการไล่รื้อที่มีอยู่มิเว้นวันในช่วงนั้น ได้ทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ หนึ่งคือ การเผยแพร่ข่าวการไล่รื้อโดยสื่อมวลชนเกิดขึ้นแทบทุกวันทำให้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางสังคม สอง ชาวสลัมเองไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ไป เมื่อถูกไล่ที่ก็รวมตัวกันเอง สู้กันเอง และสาม มีการตั้งกลุ่ม NGOs ทำงานด้านสลัมมากขึ้น
“กลุ่มชุมชนสัมพันธ์”(กชส) ขณะนั้นมีสถานะเป็นกลุ่มนอกระบบ ในด้านหนึ่งจึงทำให้การทำงานบางอย่างมีข้อจำกัด การปรับสถานภาพขององค์กร น่าจะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างชาวสลัมกับสาธารณะเป็นจริงได้มากขึ้น เป็นตัวเชื่อม สร้างช่องทาง เปิดพื้นที่สาธารณะให้กับคนจนได้มากขึ้น การเตรียมการเพื่อจัดระบบองค์กรใหม่จึงเกิดขึ้น มีการจัดโครงสร้าง กรรมการบริหาร เจ้าหน้าที่ แผนงบประมาณดำเนินงาน และข้อระเบียบขององค์กรที่ชัดเจนขึ้น ในที่สุดก็ได้ยื่นจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย”(มพศ.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2531 ต่อกระทรวงมหาดไทย
สำหรับองค์กรชาวบ้าน “ศูนย์รวมสลัม” ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “ศูนย์รวมพัฒนาองค์กรชุมชน” (ศพช.) นับแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นองค์กรที่พึ่งของชาวสลัมที่ถูกไล่ที่ จะเห็นว่าการปรับระบบรูปแบบจากกลุ่ม NGOs ไม่เป็นทางการ สู่การจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายนั้น เป็นการพัฒนาการที่ควบคู่ไปกับการเติบโตของขบวนชาวสลัม เป็นการเติบโตของการเมืองภาคประชาชน สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการต่อสู้เพื่อสิทธิคนจนเมือง
มพศ. ได้ขยายงานเปิดพื้นที่การทำงานออกสู่ภูมิภาค ในช่วงปี 2531 -2534 โดยเริ่มจากชุมชนสลัมในจังหวัดสงขลา เชียงใหม่ และนครราชสีมา ในพื้นที่ใหม่นี้ พบว่าปัญหาสลัมในหัวเมืองภูมิภาคมิได้แตกต่างไปจากโครงสร้างปัญหาของสลัมในกรุงเทพฯ ชุมชนเก้าเส้ง บ่อนวัวเก่า บ่อว้า ศาลาหังยาง ริมทางรถไฟที่จังหวัดสงขลา กำลังถูกไล่ที่ ชุมชนเกาะลอย โคราช ถูกไล่รื้อเช่นเดียวกับแผนการไล่รื้อชุมชนอีกหลายแห่งตลอดแนวกำแพงดิน จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยการเชื่อมร้อยประสบการณ์ของ ศพช. ออกสู่หัวเมือง ขยายความสัมพันธ์ระหว่างคนจน การรวมกลุ่มทำกิจกรรมพัฒนาเพื่อเตรียมการต่อสู่การไล่รื้อจึงเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุด โอกาสที่ได้รับประสบการณ์บทเรียนของเพื่อนคนจนจาก ศพช. เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดฐานพลังคนจนเมืองขึ้นทั้ง เหนือ ใต้ อีสาน โดยที่ มพศ. ในขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ถึง 22 คน กระจายกำลังลงทำงาน เกาะติดพื้นที่เป้าหมายในแต่ละหัวเมือง โดยหวังว่า เมื่อชาวบ้านมีคุณภาพ มีฐานกลุ่มที่เข้มแข็ง มีที่มาจากทุกภูมิภาค มีปริมาณที่มากพอ และมีจุดร่วมที่ชัดเจน พลังชาวบ้านก็จะยกระดับขึ้นสู่อีกขั้นหนึ่ง
มพศ. ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันการทำงานของเครือข่าย เช่น สนับสนุนให้ ศพช. ขยายงานจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้น ขยายงานด้านกองทุนที่อยู่อาศัย ที่มีปรึกษาด้านวิชาการ จัดระบบโครงสร่างขององค์กร มีแผนงาน มีงบประมาณดำเนินงานของตัวเอง รวมทั้งสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมกันก่อตั้ง “คณะกรรมการสลัม 4 ภาค” (ภายหลังพัฒนาเป็น “เครือข่ายสลัม 4 ภาค”) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเครือข่ายสงขลา เชียงใหม่ นครราชสีมา และ 5 เครือข่ายใน กทม. ได้แก่ ศพช. กลุ่มรวมน้ำใจ สมาพันธ์ชุมชนแออัดคลองเตย กลุ่มดุสิตพัฒนา และกลุ่มแม่บ้าน ศพช. เป็นต้น
กระทั่งในปี 2535 มพศ. เริ่มเปิดตัวทางสาธารณะมากขึ้น จัดระบบข้อมูลทำงานวิชาการ และนำเสนอผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้สังคมเข้าใจภาพรวมของปัญหาสลัม ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-พอช. ในปัจจุบัน) และกรุงเทพมหานคร โดยประสานทั้งการแก้ไขปัญหาการไล่รื้อเร่งด่วน การสำรวจข้อมูล รวมทั้งงานระดับนโยบาย เช่น การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชน การผลักดันเรื่อง พ.ร.บ. สลัม และการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดแห่งชาติ เป็นต้น
ขณะที่องค์กรชาวบ้านที่ มพศ. สนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มแรก (พ.ศ.2525) จากระดับชุมชนสู่ระดับเครือข่าย ขยายสู่ภูมิภาค มีพัฒนาการแตกหน่อ รู้จักพันธมิตรภายนอก ทำกิจกรรมได้หลายมิติ มพศ. ก็เริ่มเจาะหากลุ่มคนที่ยังด้อยโอกาสในสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักว่ายังมีคนจนเมืองอีกมากมาย หลายลักษณะ หลายรูปแบบ ที่ยังต้องการโอกาสในการพัฒนา ปี พ.ศ. 2536 มพศ. ได้เปิดพื้นที่ทำงานกับพี่น้องคนจนใต้สะพานขึ้น โดยความร่วมมือกับนักศึกษาปริญญาโท เพื่อองค์กร NGOs การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง และกรุงเทพมหานคร ประสานกับนักการเมืองท้องถิ่น กระทั่งมีการจัดรูปองค์กร “กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน” ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย จัดหาที่ดินรองรับชาวใต้สะพานทั้งหมด 65 สะพาน จำนวน 465 ครอบครัว (อ่านรายละเอียดจากหนังสือ “คนใต้สะพาน” จัดพิมพ์ในวาระครบรอบ 15 ปี มพศ.) และแน่นอนพวกเขาเป็นสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค และสมัชชาคนจน
นับจากวันที่เริ่มทำงานกับคนจนเมือง ด้วยทีมงานเล็ก ๆ ทำงานกับพี่น้องสลัมที่ถูกไล่รื้อ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หยุดไล่รื้อ ปกป้องบ้าน เกิดองค์กรประชาชนที่ทำงานเพื่อสิทธิความเป็นชุมชนและพลเมือง ร่วมประสานข้อเรียกร้องกับพี่น้องคนจนทั่วประเทศ ถือเป็นการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนในภาพรวม จนถึงปัจจุบัน นับได้ว่า มพศ. และองค์กรพันธมิตรสลัมได้เข้าร่วมพันธกิจเป็นพลังหนึ่งที่ร่วมสร้างสรรค์สังคมเสมอภาค
อย่างไรก็ตามในช่วงกลางปี 2544 กรุงเทพมหานครยังมีนโยบายกวาดไล่คนไร้บ้านที่เคยใช้สนามหลวงเป็นที่พำนักออกทั้งหมด เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนของคนกรุง โดยไม่มีแผนรองรับ ซึ่งได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านรวมกลุ่มพูดคุยหาทางออกร่วมกัน และในที่สุดก็นำไปสู่การเจรจากับหน่วยงานของรัฐ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุด และได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า จะจัดสร้างบ้านพักชั่วคราวเพื่อคนไร้บ้าน
พวกเขาเหล่านี้ คือ คนไทยแท้ที่ไร้สิทธิ ไร้เสียง อนาคตมืดมน เป็นตัวจริง เสียงจริงของยากคนจน แต่กลับเหมือนไร้ตัวตน ไม่มีที่ยืนในสังคม
ในยุคที่การเมืองถูกผูกขาดด้วยตระกูลทุน ยุคมือถือ คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม ในยุคที่เมืองมั่งคั่ง และชาติมั่นคง คนเหล่านี้จำนวนมาก ยังคงเร่ร่อน และอยู่อย่างแร้นแค้นตามท้องถนนพวกเขามีตัวตน แต่สังคมมองไม่เห็น รัฐไม่ใส่ใจ.......... ดูเหมือนว่า ความยากจนยังไม่ได้หายไปไหน และปัญหาของสังคมกลับยิ่งสลับซับซ้อนขึ้นทุกวัน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : https://humanset.org