กองทุนภาคประชาสังคม

มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ สำนักงานภาคอีสาน (เอดส์เน็ท)

ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย นอกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในชุมชนแล้ว ยังประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการทำงานด้านเอดส์ อีกทั้งยังขาดหน่วยงานที่ให้ความรู้ความเข้าใจและทักษะในการป้องกันและจัดการกับเอดส์ หรือแม้กระทั่งโครงการที่ดำเนินงานเกี่ยวกับเอดส์ก็มีน้อยมาก

มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) เป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขององค์กรท้องถิ่นในการป้องกัน ดูแลประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเอดส์ รวมทั้งส่งเสริมโครงการดำเนินงานด้านเอดส์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

เอดส์เน็ทได้ดำเนินการร่วมกับโครงการไทย-ออสเตรเลียป้องกันเอดส์ภาคเหนือ (NAPAC) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานด้านเอดส์ในลักษณะพหุภาคี โดยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) ในการจัดการกับปัญหาด้านเอดส์ นอกจากนี้ เอดส์เน็ทยังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรในชุมชน ได้แก่ หน่วยงานภาคเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ หน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่น และกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการและวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานของมูลนิธิฯ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา เอดส์เน็ทได้ดำเนินโครงการด้านเอดส์เป็นจำนวนมาก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรต่างๆ ได้แก่ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) สหภาพยุโรป (EC) องค์กรพันธมิตรสากลด้านเอดส์ (The International HIV/AIDS Alliance) มูลนิธิเดอะร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รัฐบาลไทย องค์การแพลนประเทศไทย (PLAN) และสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (TBCA) เอดส์เน็ทได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2540 และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในส่วนของงบประมาณจากสหภาพยุโรป ในช่วง 3 ปีแรกของการก่อตั้ง

สืบเนื่องจากการแพร่กระจายของโรคเอดส์อย่างรวดเร็วในช่วงกลางทศวรรษที่ผ่านมา เอดส์เน็ทจึงได้ดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นการลดการแพร่ระบาดของเอดส์ รวมทั้งการดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์รายใหม่ และการลดการรังเกียจของคนในชุมชนที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และผู้ป่วยเอดส์

การทำงานของมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของภาคอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2545-2552 มูลนิธิฯ มีแผนงานการทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติสัญชาติลาวเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนไทย-ลาว 6 จังหวัด รวมไปถึงพื้นที่เวียงจันทน์และจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเดอะร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิฯ ได้เปิดให้บริการบ้านพักใจเลย บ้านพักใจอุดรธานี และบ้านพักใจหนองคาย เพื่อสนับสนุนและรองรับการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว และผลจาการที่มูลนิธิฯ มีประสบการณ์ทำงานในประชากรแรงงานข้ามชาติ ทำให้มูลนิธิฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อสู้กับเอดส์ (Global Fund to Fight AIDS) รวมทั้งส่งผลให้บ้านพักใจได้ขยายงานอย่างต่อเนื่องใน สปป.ลาว

สำหรับนวัตกรรมในส่วนที่สอง มูลนิธิฯ ได้มีการพัฒนาโครงการการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) เพื่อจัดการกับปัญหาสุขภาวะทางเพศ เอดส์/เอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted diseases: STDs)

นอกจากนี้ มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, TB and Malaria: GFATM) เพื่อร่วมดำเนินงานใน “โครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในแรงงานข้ามชาติ ในประเทศไทย หรือโครงการฟ้ามิตร (The Prevention of HIV/AIDS Among Migrant Workers in Thailand Project: PHAMIT)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์รายใหม่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและทำให้อัตราการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาลดลงด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :               Thailand NGO Awards 2011

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก :         www.facebook.com/aidsnetne

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE