ชุมชนแออัดเกิดขึ้นจากผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นจากชนบทมาสู่เมืองหลวง ด้วยความเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถหางานทำและมีชีวิตที่ดีขึ้น และด้วยความไม่มีที่อยู่อาศัยพวกเขาจึงสร้างบ้านของตัวเองขึ้นมาบนที่ดินของผู้อื่นที่พอจะสร้างบ้านได้ และอยู่กันอย่างแออัด เด็ก ๆ ที่อยู่ในครอบครัวเหล่านี้จึงเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรม และบางแห่งเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด และอันตรายต่างๆ
ดังนั้นมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม จึงเข้าไปช่วยเหลือเด็กอ่อนที่อยู่ในชุมชนแออัดให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ก่อตั้งในปี พ.ศ.2524 โดยคุณครูประทีป อึ้งทรงธรรมจากประสบการณ์ที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ที่เกิดและอาศัยในสลัมคลองเตย ได้ตระหนักถึงปัญหาในสลัม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของแหล่งชุมชนที่เสื่อมโทรมและไมได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2511 ครูประทีปมีความหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านี้ เธอจึงได้ปรับปรุงใต้ถุนบ้านที่เธออาศัยให้กลายเป็นห้องเรียน ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “One Baht a Day School” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรงเรียนวันละบาท”
แม้ว่าโรงเรียนของครูประทีปได้ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับนักเรียน แต่นักเรียนจำนวนมากก็ต้องขาดเรียนเพื่อไปเลี้ยงดูน้องที่บ้าน ครูประทีปจึงมีแนวคิดที่จะก่อตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ดังนั้น จึงใช้เงินรางวัลที่ได้มาจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์และการสนับสนุนของสมาชิกในกลุ่มผู้ก่อตั้ง จดทะเบียนมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในปี พ.ศ. 2524 และเริ่มดำเนินการช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพแก่เด็กอ่อน รวมทั้งเป็นศูนย์เลี้ยงดูเด็กและทารกในตอนกลางวัน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงทราบเกี่ยวกับมูลนิธิเป็นครั้งแรกจากการที่ทรงอ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง หลังจากที่ทรงเสด็จเยือนสลัม และทรงมีความห่วงใยในเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2526 จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ รับมูลนิธิฯไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมทรงเอาพระทัยใส่ในการดำเนินงานของมูลนิธิฯ
ปัจจุบันมูลนิธิฯ มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเด็กวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ส่งเสริมด้านการบริการสุขภาพแก่เด็กอ่อนและสตรีมีครรภ์ที่ด้อยโอกาส สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านปัญหาที่เกี่ยวกับเด็ก ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กอ่อนในสลัม และร่วมมือกับองค์กรการกุศลที่ดำเนินงานด้านการดูแลเด็ก โดยสามารถจำแนกโครงการออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โครงการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว, โครงการขยายเครือข่ายบ้านรับเลี้ยงเด็กในชุมชน, โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และโครงการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม
การทำงานผ่านโครงการต่างๆของมูลนิธิฯ มีเป้าหมายเพื่อ ทำให้ชุมชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือ การทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ความรู้สึกและความเชื่อนี้จะทำให้พวกเขามีความคิดที่ว่า เด็ก ๆ ทุกคนในชุมชนเป็นลูกหลานของพวกเขา และจะนำมาซึ่งการปฏิบัติต่อเด็ก ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม ตามที่ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธาน มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ได้กล่าวไว้ว่า
“คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด เขาต้องพบกับปัญหาและความยากลำบากต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการหาเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดไปวัน ๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องถามถึงเรื่องการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูก การอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่เป็นพ่อ มูลนิธิฯ ของเราจึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งแม่ และพ่อ ซึ่งผลที่ได้รับจากกิจกรรมต่างเหล่านี้ ทำให้พ่อแม่ของเด็กหลายคนมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมการดูแลลูกไปในทางที่ดีขึ้น เรามีความมุ่งหวังที่จะเห็นพ่อแสดงความรัก ความห่วงใย ให้การดูแล มีความเข้าใจลูก มีความยินดีและมีความสุขในการใช้เวลาอยู่ลูก ซึ่งนี่อาจเป็นผลที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยที่พ่อมักจะไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการดูแลอบรมสั่งสอนลูกมากนัก”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม www.fscc.or.th, Thailand NGO Awards 2011
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.thaimediapr.com, www.volunteerspirit.org, www.fscc.or.th