กองทุนภาคประชาสังคม

“กลุ่มลูกเหรียง” จากความสูญเสียสู่การเยียวยากันและกัน

เนื่องด้วยปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงรุนแรงเป็นระยะ ๆ อยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่นั้น ๆ ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะตลอดมาตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบที่ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากการโจมตีเฉพาะกลุ่มมาเป็นการโจมตีที่ขยายวงกว้าง และเข้าไปสู่กลุ่มคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนจากหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้รู้จักแม้กระทั่งการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ อย่างครู หรือแพทย์ ก็ถูกทำให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งมีจำนวนมากที่ต้องสูญเสียชีวิตไปอย่างน่าเศร้า

ความสูญเสียจากภาครัฐนำมาสู่การสูญเสียในภาคประชาชน เพราะจากความรุนแรงนั้นก็มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ครูและแพทย์ที่เข้ามาในพื้นที่ลดลง ส่งผลให้สวัสดิภาพที่ดีของประชาชนในพื้นที่ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เห็นความรุนแรงเหล่านั้นอยู่เป็นนิจ และไม่เพียงเท่านั้น ความรุนแรงที่มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบนี้ ทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียเสาหลักหรือบุคคลสำคัญไปเพื่อสังเวยให้กับความรุนแรง ที่ยากเกินจะเยียวยาแก้ไข

กลุ่มลูกเหรียง ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ถูกก่อตั้งขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว โดยแรกเริ่มเดิมทีเกิดจากการรวมตัวของเด็กและเยาวชนที่ทำงานประเด็นเอดส์ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ปี 2547 กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้สมาชิกของกลุ่มลูกเหรียงหลายคนต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักไป จึงเกิดรวมตัวขึ้นมา เพื่อทำกิจกรรมเยียวยาตนเอง และทำกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบ

“ชมพู่” วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือกลุ่มลูกเหรียง  ได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาว่า “ตอนนั้น เริ่มต้นจากผู้ประสานงานกลุ่มได้มีโอกาสพาพี่ ๆ จากกรุงเทพฯ ลงไปเยี่ยมผู้หญิงที่เสียสามีไปในเหตุการณ์ตอนต้นปี ทั้งที่ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา พอลงไปแต่ละบ้านแล้ว พวกหนูมองเห็นมีเด็กๆ หลายคนหลบมุมใต้ถุนบ้าน หลายคนหลบอยู่ในบ้าน เลยมีโอกาสได้ไปคุยกับน้องๆ ทำให้ทราบว่า เด็กๆ รู้สึกเจ็บปวดไม่แพ้แม่ ที่เสียคุณพ่อไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ พวกหนูเองก็สูญเสียคนที่รักไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ น้องหลายคนตาเหม่อลอยมาก เวลาคุยกัน บางคนจิกผมไปด้วยเวลาเล่าให้เราฟัง”

“หลังจากได้เยี่ยมหลายครอบครัว กลับมาแล้วมีโอกาสได้ร่วมเป็นวิทยากร จัดค่ายเยียวยาคุณแม่กับพี่ ๆ          ที่กรุงเทพฯ ทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ ทุกครั้งเวลาจัดกิจกรรมให้กับคุณแม่ แต่ใจกลับคิดถึงเด็ก ๆ เหล่านั้นที่เราไปพบมา เลยคุยกับพี่ ๆ ว่า ขอมีค่ายเยียวยาให้เด็ก ๆ สักครั้งได้ไหม อยากลองดู เพราะคิดว่า เด็ก ๆ ควรจะได้เข้าค่ายเยียวยาเหมือนคุณแม่ด้วย เพราะขนาดเราอายุเท่านี้ เรายังรู้สึกเจ็บปวดมากตอนสูญเสียพี่ชายไป แล้วเขาซึ่งอายุน้อยกว่าเรามาก ต้องเสียคุณพ่อไป เขาคงเจ็บปวด และรู้สึกกดดันไม่แพ้เราเลย”

พี่ๆกลุ่มอาสาจากกรุงเทพฯ ได้ฟังแล้วก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือทั้งควักเงินส่วนตัวและขอสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ  จนหาเงินมาได้ 53,000 บาท จนเกิดเป็นค่ายแรกขึ้นมา มีน้องๆเข้าร่วมถึง 50 คน

“พวกพี่ ๆ ลูกเหรียงตั้งใจนำความรู้ที่พอมี มาประยุกต์ใช้ โดยใช้ศิลปะเป็นหลักในการเยียวยาเด็กและเยาวชนที่มาเข้าร่วมค่าย พวกเราเลือกใช้กิจกรรมกราฟชีวิตในช่วงกลางคืน ทำให้น้องๆ หลายคนได้ทราบเรื่องราวของเพื่อนๆ ว่า ไม่ว่าพ่อของเขาจะเป็นใคร ลูกชาวบ้านหรือรับราชการ เด็ก ๆ พูดทุกคนว่า เด็ก ๆ รู้สึกเจ็บปวด เก็บกด กดดัน และรู้สึกเคียดแค้นกับการที่เขาต้องเสียพ่อซึ่งเป็นผู้นำครอบครัวไปในเหตุการณ์ น้องหลายคนแอบนอนร้องให้คิดถึงพ่อ ไม่กล้าร้องให้ให้แม่เห็น เพราะกลัวแม่เสียใจ น้องบางคนแกล้งทำเป็นเข้มแข็ง ร่าเริงต่อหน้าแม่ แต่ลับหลังแม่น้องบอกว่า เขาอยากจะกรี๊ดออกมาดัง ๆ เพราะรู้สึกเครียด กดดัน แค้น จนอยากจะไปทำร้ายคนที่ทำร้ายพ่อ อยากถามเขาว่าฆ่าพ่อหนูทำไม พ่อเป็นชาวบ้านธรรมดา เราเลี้ยงวัว กรีดยาง ก็ต้องตาย หลากหลายอารมณ์ ความรู้สึกในค่ายครั้งนี้ ทำให้พี่ ๆ ในค่ายรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับเด็กตัวเล็กๆ”

“ตอนนี้กลุ่มลูกเหรียง ต้องพัฒนาตัวเองออกมาเป็นบ้านพักชั่วคราวและกึ่งถาวรสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัด เพราะจากการดูแลร่วมกัน ทำให้ได้ทราบว่าน้องหลายคนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยแม่ทำงาน ส่งน้องที่เหลือให้ได้เรียน น้องหลายคนต้องออกมาเป็นผู้นำครอบครัว แทนคุณพ่อ คุณแม่ที่เสียไปในเหตุการณ์ กลุ่มลูกเหรียง จึงต้องรับน้องหลายคนมาดูแล เป็นพี่และเป็นผู้ปกครอง พยายามหาทุนการศึกษา ของพี่ ๆ ที่เรารู้จักเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ระดมทุน ทำของขาย และทำทุกอย่างที่สามารถช่วยให้พวกเราอิ่มท้อง และได้ไปโรงเรียน และมีกิจกรรมทำเพื่อสังคมเด็กคนอื่น ๆ ด้วย”

“ตั้งแต่เกิดค่ายครั้งแรก จนถึงวันนี้ กลุ่มลูกเหรียงเติบโตมากขึ้น น้องหลายคนได้เรียนจนจบ และกลับมาช่วยที่กลุ่ม ดูแลน้องคนอื่นๆ ต่อไป ถึงพวกเราจะเป็นเยาวชนตัวเล็กๆ คนหนึ่งแต่เราก็สามารถสร้างน้องจากเด็กคนหนึ่ง ที่ไม่กล้าพูด กล้าแสดงออก เก็บตัว และอ่อนแอ มาเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่ง ที่มีความเข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกร้าว พวกเราเติบโต และถูกหล่อหลอมมาจากความรุนแรง ความเจ็บปวด มันเป็นประสบการณ์ที่สอนให้พวกเราตั้งใจเติบโตมาให้เป็นเมล็ดพันธ์ที่ดี เป็นแบบอย่างให้เด็กคนอื่นๆ เห็นว่า เราสามารถเป็นคนดีได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมแบบไหน เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม แต่เราก็มีสำนึกที่ดีต่อสังคม เพราะ เราโตมาจากความช่วยเหลือ การให้โอกาสของผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ คน เราจึงตั้งใจจะเป็นโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างรุ่นพี่ของเรา”

การรวมกลุ่มนี้ ทำให้เกิดองค์กรเล็ก ๆ สำหรับคนในชุมชนขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังเล็กๆ นี้ จะกลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการสยบปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และทำให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่แห่งความรักและสันติสุขสำหรับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง...

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :               กลุ่มลูกเหรียง www.luukrieang.com, มูลนิธิเด็ก www.ffc.or.th

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก :         www.luukrieang.com

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE