การรวมตัวของนักเรียนในโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ที่สนใจศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ตั้งเป็น “กลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง” ในปี 2539 มีสัญลักษณ์เป็นเจ้ากระเต็นตัวน้อย ใช้นกเป็นสื่อการเรียนรู้ระบบนิเวศเฉพาะถิ่น หลังจากนั้นขยายเป็นชุมนุมดูนก เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องระบบนิเวศ ดึงความสนใจของเยาวชนให้เรียนรู้ท้องถิ่น และกลายเป็นกลุ่มเยาวชนที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่เคยมีความขัดแย้งยาวนาน
พระอาทิตย์ช่วยเป็นพยาน เราลูกหลานป่าดงพงพี
เราขออุทิศชีวิตที่มี เพื่อท้องทุ่งนี้อยู่ยั่งยืนนาน
เห็นหมู่ปักษีกางปีกโบยบิน พวกเราถวิลถึง วันเวลา
กิจกรรมต่างๆ นานา ล้วนเป็นสัญญาจากห้วงดวงใจ
อุดมการณ์ยังคงยึดมั่น ให้พวกเรานั้นร่วมกันฝันใฝ่...
เพลง “อุดมการณ์” ที่เด็กๆ สมาชิก “ชุมนุมดูนก” ร้องแข่งกันอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้องของ “กลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง” ที่ดำเนินมากว่า 10 ปี
หากต้องการทำความรู้จัก คงต้องเริ่มที่ศูนย์ศึกษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม จากประตูเดินตรงไปไม่เกิน 100 เมตร ถ้าเจอสัญลักษณ์นกกระเต็นปักหลักตัวใหญ่ยักษ์อยู่ทางขวามือ แสดงว่ามาถูกทางแล้ว
จุดเริ่มต้นอยู่ที่นี่ ในปี 2539 มีเด็กๆ ในท้องถิ่นประมาณ 10 คน เกิดความสนใจใคร่รู้ว่าทุ่งสามร้อยยอดของตนนั้นมีดีอย่างไร “กลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง” จึงเกิดขึ้น โดยมีคำขวัญประจำกลุ่มว่า “รักนก รักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยกันทะนุถนอมธรรมชาติ”
แรกๆ ก็แค่วิ่งเล่น ดูนก ตกปลา ไปตามประสา แต่เมื่อความ “ซนยังกะลิง” ออกจากร่าง การได้นั่งนิ่งๆ ก็ทำให้พบว่าที่นี่มีอะไรมากกว่าความเป็นทุ่ง ชัดเจนที่สุดคือ “นก” ที่มีอยู่มากมายกว่า 1,000 ชนิด นกชนิดไหน กินอะไร แล้วมาจากที่ไหน อยู่อย่างไร เริ่มเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจ
พื้นฐานเกิดจากการสนับสนุนของอาจารย์ในโรงเรียน ทั้งหนังสือวิธีการดูนก ข้อมูลเชิงวิชาการและอุปกรณ์ต่างๆ ในการไปศึกษาเรียนรู้เรื่องสัตว์ปีก สัตว์น้ำ และพรรณพืชนานาชนิด ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในระบบนิเวศ เกื้อหนุนวงจรของสิ่งมีชีวิตในท้องทุ่งนี้
“พี่บึ้ม” สมาชิกรุ่นแรกเล่าให้ฟังว่า "ผมเป็นเด็กเกเร ไม่มีชุมนุมอยู่ พออาจารย์พาไปดูนกที่ทุ่งสามร้อยยอด ตอนนั้นยังไม่ได้สร้างบึงบัว ลงปุ๊บเจอตัวแรกเลย นกกระเต็นหัวดำ ตกใจมากกว่า...ยังมีนกที่สวยอย่างนี้อยู่บนโลกอีกหรือ"
เมื่อศึกษาและเรียนรู้เรื่องนกในท้องทุ่งสามร้อยยอดจนเชี่ยวชาญ ก็สามารถนำความตื่นเต้นนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ ได้ “ชุมนุมดูนก” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งแก่น้องๆ ในโรงเรียน และยังเป็นสื่อให้เด็กๆ รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
นกกระเต็นตัวน้อยกลุ่มนี้มักจะหาเวลาลงไปศึกษาและสืบเสาะความรู้ให้มากที่สุด ความสนุกสนานคือผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่เห็นให้แก่ชาวบ้านและเยาวชนในท้องถิ่นกลุ่มอื่นๆ ได้รับรู้
“นที” กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนเข้ามาเป็นสมาชิกว่า “เพื่อนๆ ชวน ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่คิดที่จะมาหาความรู้อะไรมากมาย แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ขึ้นปี 2 เริ่มรู้สึกว่าตัวเราเองน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ เลยเริ่มศึกษาจากพี่เลี้ยงรุ่นก่อนๆ เพราะกลุ่มเราใช้ระบบพี่สอนน้อง ดูกิจกรรมที่รุ่นพี่ทำแล้วมาสอนน้อง พอยิ่งอยู่ ยิ่งมีความผูกพัน อยู่มาตั้งแต่ ม.2”
นอกจากการดูนกที่เป็นกิจกรรมหลัก เด็กๆ ยังเรียนรู้เรื่องการช่วยลดภาวะโลกร้อน ด้วยการใช้ถุงผ้าและไม่ใช้กล่องโฟมใส่อาหาร นำแก้วมาโรงเรียนเพื่อลดขยะพลาสติก ทำโครงการขยะรีไซเคิลและประดิษฐ์เข็มกลัดรูปนกเพื่อนำรายได้มาทำกิจกรรมของชมรม
ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของทุ่งสามร้อยยอด จะพบว่ามีความขัดแย้งเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐมายาวนาน แต่ความบริสุทธิ์ของเด็ก กลายเป็นสะพานเชื่อมที่ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลง กลายเป็นความร่วมมือระหว่าง วัด ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และอุทยาน ในการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและยาวนาน
พระอาทิตย์ช่วยเป็นพยาน...นี่แหละอุดมการณ์ของ “เจ้ากระเต็น”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : กลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง อุดมการณ์ของ “เจ้ากระเต็น” รางวัลลูกโลกสีเขียว
ปี 2552 pttinternet.pttplc.com/greenglobe/2552/youthgroup-06.html